อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกผวา หวั่นจีเอ็ม-ไครสเลอร์ล้มละลายหลังสหรัฐปฏิเสธแผนปรับโครงสร้าง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 31, 2009 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีปฏิกริยาในด้านลบต่อข่าวที่ว่า คณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐปฏิเสธแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) และบริษัทไครสเลอร์ แม้นายริก วาโกเนอร์ ซีอีโอจีเอ็มยอมลาออกจากตำแหน่งตามเงื่อนไขของรัฐบาล นอกจากนี้ คณะทำงานฯประเมินว่าบริษัทรถยนต์ทั้งสองแห่งอาจดำเนินกิจการต่อไปได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น

การที่คณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ปฏิเสธแผนปรับโครงสร้างของจีเอ็มและไครสเลอร์ได้จุดกระแสความวิตกกังวลในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกว่า ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งอาจล้มละลาย และอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ในตลาดโลก อีกทั้งสร้างความหวั่นวิตกให้กับพนักงานบริษัทรถยนต์ในหลายประเทศ

จีเอ็ม ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานรถยนต์ อดัม โอเปิล จีเอ็มบีเอช ในเยอรมนี และโรงงาน ซ้าบ ในสวีเดน ขณะที่ไครสเลอร์กำลังอยู่ในระหว่างการทำข้อตกลงทางการค้ากับเฟียตในอิตาลี ส่วนในภูมิภาคเอเชียนั้น บริษัท นิสสัน และโตโยต้า ค่ายรถของญี่ปุ่นระบุว่า กิจการในอเมริกาเหนือของโตโยต้าและนิสสันอาจได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัทรถยนต์ในสหรัฐ เพราะทั้งโตโยต้าและนิสสันใช้บริการซัพพลายเออร์รายเดียวกับบริษัทรถยนต์สหรัฐ อาทิ บริษัท เดลฟี คอร์ป, บอช ออโต้พาร์ท และทีอาร์ดับเบิลยู ออโตโมทีฟ

อลัน บุดเดนเดค รองประธานฝ่ายสื่อสารระหว่างประเทศของนิสสัน มอเตอร์ กล่าวว่า "อุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่งถือเป็นผลประโยชน์ของทุกคน เพราะหมายถึงการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนจำนวนมาก หากค่ายรถยนต์ในสหรัฐล้มละลายย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์โลกทั้งระบบ รวมถึงซัพพลายเออร์จำนวนมาก"

ขณะที่นายคัทสึอากิ วาตานาเบะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ กล่าวว่า เขากังวลว่าจีเอ็มอาจประกาศล้มละลาย และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปและนักวิเคราะห์หลายคนมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลาออกของนายริก วาโกเนอร์ ซีอีโอของจีเอ็ม เพราะถือเป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ โดยคลอส ฟรองซ์ ตัวแทนสหภาพของโอเปิลกล่าวว่า ริก วาโกเนอร์ เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารที่ผิดพลาด และยุโรปขานรับจีเอ็มที่ตัดสินใจแต่งตั้งนายฟริทซ์ เฮนเดอร์สัน เป็นซีอีโอแทนวาโกเนอร์ เพราะเฮนเดอร์สันมีความใกล้ชิดกันสหภาพโรงงานจีเอ็มในยุโรป รวมถึงโอเปิล

ด้านนางแองเจลา มาร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า เธอไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือโอเปิลโดยไม่พิจารณาแผนฟื้นฟูโดยละเอียด เพราะเกรงว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลเยอรมนีนำไปช่วยเหลือโอเปิลนั้น อาจถูก "ผ่องถ่าย" ไปยังจีเอ็มซึ่งเป็นเจ้าของโอเปิล

นายโจรัน เจ้าหน้าที่กระทรวงวิสาหกิจของสวีเดนกล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐให้เวลาจีเอ็ม 60 วันในการปัดฝุ่นแผนปรับโครงสร้างนั้น อาจบีบให้จีเอ็มขายโรงงานซ้าบในเมืองโก๊ตบอร์กของสวีเดน สำนักข่าวเอพีรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ