ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรพุ่งแรง รับข่าวลือธนาคารกลางยุโรปแทรกแซงตลาด

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 20, 2010 07:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรทะยานขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 พ.ค.) หลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดในตลาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการทุ่มซื้อสกุลเงินยูโร เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของยูโร อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนยังคงมีท่าทีระมัดระวังการซื้อขายหลังจากรัฐบาลเยอรมนีบังคับใช้กฎห้ามทำชอร์ตเซลหุ้นของ 10 บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 1.72% แตะที่ 1.2390 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.2180 ยูโร/ดอลลาร์ และค่าเงินปอนด์ดีดขึ้น 0.77% แตะที่ 1.4411 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.4301 ปอนด์/ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.65% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 91.520 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 92.120 เยน/ดอลลาร์ แต่ดีดขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.1516 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1495 ฟรังค์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 2.05% แตะที่ 0.8446 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันอังคารที่ 0.8623 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 2.14% แตะที่ 0.6759 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6907 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ค่าเงินยูโรทะยานขึ้นแข็งแกร่งหลังจากมีข่าวลือว่าธนาคารกลางยุโรป ร่วมกับธนาคารกลางอีกหลายแห่ง จะเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการทุ่มซื้อสกุลเงินยูโร เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของยูโร โดยการแทรกแซงครั้งหลังสุดของอีซีบีเกิดขึ้นในปี 2543

ข่าวลือดังกล่าวทำให้นักลงทุนแห่ถือครองยูโร แม้ธนาคารกลางยุโรปยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ก็ตาม

สหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ลดลง 0.1% ทำสถิติลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังจากราคาพลังงานร่วงลงอย่างหนัก และบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็น 3.2 - 3.7% ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8 - 3.5%

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ โดยกระทรวงแรงงานจะรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสำนักงานคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด จะรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ส่วนวันศุกร์ไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ