(เพิ่มเติม) SCC ปรับแบรนด์"เปเปอร์"เป็น"แพคเกจจิ้ง",หวังยอดขายปีนี้โต 5-10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 12, 2015 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอสซีจี เปเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ปรับแบรนด์เป็น เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เน้นการเป็น Total Packaging Solutions Provider โดยมุ่งเดินหน้าขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน และให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้า บริการ และ โซลูชั่น พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับลูกค้า เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์สูงสุด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เปิดเผยว่า บริษัทมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมุ่งขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เมียนมา และกัมพูชา

นอกจากนี้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ตั้งงบประมาณในปี 58 กว่า 400 ล้านบาท หรือราว 0.5% ของยอดขายของกลุ่ม ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง(HVA)ให้ได้ 47% ของยอดขายรวมใน 5 ปี ขณะที่ระยะสั้นปีนี้คาดว่ายอดขายของกลุ่มบรรจุภัณฑ์จะเติบโตได้ 5-10% จาก 6.46 หมื่นล้านบาทในปีก่อน ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นและตลาดอาเซียนที่ยังขยายตัว แม้ตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศจะขยายตัวได้ไม่มากราว 1-2% ก็ตาม

"การรีแบรนด์ เอสซีจี เปเปอร์ เป็นเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่ออย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจด้วย เอสซีจีอยากจะเป็น Total Packaging Solutions Provider ที่สามารถ offer ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเรื่องการบริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ซึ่งเราเน้นในภูมิภาคอาเซียน และเน้นการผสมผสานเอางานวิจัยมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า สร้างบรรจุภัณฑ์อาเซียนให้เติบโต"นายรุ่งโรจน์ กล่าวแถลงข่าววันนี้

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การรีแบนด์ของธุรกิจครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากสายธุรกิจ ที่ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของธุรกิจบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ราว 75% ของยอดขายกลุ่มธุรกิจกระดาษเดิม และคาดว่าจะเพิ่มเป็นระดับ 80-90% ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก ซึ่งตลาดบรรจุภัณฑ์ของโลกมีมูลค่าราว 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เติบโตปีละ 3-4% ขณะที่ตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนอยู่ที่ราว 10% ของมูลค่าตลาดโลก หรือราว 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/ปี คิดเป็นอัตราเติบโต 5.1-5.2%

โดยตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน ราว 1 ใน 3 เป็นกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มาจากกระดาษ ส่วนที่เหลือมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ขณะที่การใช้บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ราว 60-70% อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างมาก

ขณะที่การดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจกระดาษของเครือซิเมนต์ไทย ที่ไม่ใช่กระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์นั้น ยังมีทั้งในส่วนของเยื่อกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียนด้วย ซึ่งก็ยังคงมีการดำเนินธุรกิจอยู่ เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าของเครืออยู่ แต่ในอนาคตเมื่อตลาดมีความต้องการลดลง การลงทุนหรือการทำธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้คงจะต้องลดลงตามไปด้วย

อนึ่ง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือเดิมคือธุรกิจกระดาษ ของ SCC นับเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจหลักในเครือซิเมนต์ไทย นอกเหนือจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยปีที่แล้วธุรกิจกระดาษ มีสัดส่วนยอดขายกว่า 13% ของยอดขายรวมของเครือ และมีสัดส่วนกำไรราว 10% ของกำไรรวมของเครือ โดยธุรกิจมีการผลิตในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ , บรรจุภัณฑ์ ,กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ มีฐานการผลิตในไทย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ ,สิงคโปร์และมาเลเซีย

ทั้งนี้ กลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิต จากฐานผลิต 3 ประเทศ รวม 2.3-2.4 ล้านตัน/ปีเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตอีกราว 2.43 แสนตัน/ปีในเวียดนาม ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จในปี 60 จะทำให้กำลังการผลิตของกระดาษบรรจุภัณฑ์ของเครือเพิ่มขึ้นมาที่เกือบ 2.7 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ จากฐานผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน 5.7 แสนตัน/ปี และเยื่อกระดาษ 4.7 แสนตัน/ปี

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์โลก ซึ่งหลายๆประเทศในอาเซียนก็นับเป็นฐานการส่งออกบรรจุภัณฑ์ของโลก ทั้งไทย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ก็มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศหลักๆเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของเครือซิเมนต์ไทยยังไม่มากนักเมื่อเทียบทั้งอาเซียน โดยมียอดขายราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปีเท่านั้น แต่เชื่อว่าการมุ่งเน้นสร้างฐาน และการพัฒนาธุรกิจ และการให้บริการควบคู่กันไปตามรูปแบบของ Total Packaging Solutions Provider ก็เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายและมาร์จิ้นของธุรกิจแพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ