(เพิ่มเติม) "เกศรา"คาดธุรกิจใน CLMV เข้า ตลท.เพิ่มปี 59 เล็งเข้มมาตรฐานบัญชี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 30, 2015 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)คาดว่าในปี 59 บริษัทในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งกัมพูชา,ลาว,เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) มีแนวโน้มเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีบริษัทในกลุ่ม CLMV ราว 5 บริษัท และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกประมาณ 1-2 กองทุน เตรียมยื่นแบบเสนอขายหุ้น(ไฟลิ่ง)เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคาดว่าจะเห็นการเข้าจดทะเบียนในปี 60

กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเสนอขายนั้น เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาว ซึ่งมีบริษัทไทยเข้าไปร่วมทำธุรกิจด้วย ส่วนอีกหนึ่งกองทุนเป็นของบริษัทในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าเห็นการยื่นไฟลิ่งในระยะเวลาใกล้ๆกัน แต่การจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานบัญชีเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนไทย จากปัจจุบันมี 3 บริษัทที่เข้าระดมทุนแล้ว ได้แก่ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP), บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) และบมจ.อมตะวีเอ็น ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในเดือน ธ.ค.นี้

อนึ่ง ตลท.ร่วมมือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จัดงาน “International Capital Markets Conference 2015" ครั้งแรกของตลาดทุนไทยในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.58 โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมให้นโยบายการพัฒนาตลาดทุน รวมถึงการพัฒนาตลาดทุนภูมิภาคในอนาคต และมีผู้บริหารระดับสูงด้านการเงินชั้นนำ ผู้บริหารระดับสูงด้านตลาดทุนในภูมิภาค ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 300 คน

นางเกศรา กล่าวว่า การจัดงาน"ความร่วมมือตลาดทุนในระดับภูมิภาค:ประสบการณ์จากนานาประเทศและแนวทางการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขง"ครั้งนี้มีตัวจาก IMF ได้ให้ภาพการที่มีตลาดทุนที่ทำงานร่วมกันได้จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้เร็ว ซึ่งการเชื่อมโยงการลงทุนข้ามตลาด และการเพิ่มประสิทธิภาพการชำระราคาในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาตลาดทุนภูมิภาคอย่างรวดเร็ว รองรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเพิ่มบทบาทในระดับนานาชาติ

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยที่มีความเชื่อมโยงกันในอาเซียนก็จะยังดำเนินการต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเริ่มจากอาเซียนที่เหลืออีก 7 ประเทศ ให้ครบก่อน หรือจะไปเชื่อมต่อนอกกลุ่มอาเซียนเลย

"ถ้ารอ 7 ตลาดเชื่อมต่อกันได้ก่อน asset ก็จะใหญ่มาก เป็นเรื่องที่จะไปดูต่อ ซึ่งปัญหาคือเรื่อง currency control จะทำอย่างไร เราต้องทำให้ smooth ขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าใจและอยากจะให้ความร่วมมือ ต้องมาทำความเข้าใจที่จะทำงานร่วมกันได้ ขณะนี้กำลังปรึกษาหารือกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยก็เปิดทุกช่องทางเพื่อเพื่อให้บริษัทในต่างประเทศเข้ามาระดมทุน"นางเกศรา กล่าว

นางเกศรา กล่าวว่า ส่วนที่การที่รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ตลาดหุ้นไทยเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นสิงคโปร์นั้น ในส่วนของ ตลท.ไม่ได้มองเฉพาะว่าจะเชื่อมโยงกับประเทศใด อาจเป็นประเทศอื่นที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการเชื่อมต่อจะทำให้เกิดประโยชน์ก็จะทำ ตลาดทุนไทยก็เปิดกว้างทั้งหมด เช่น ประเทศที่โดดเด่นเรื่องตราสารอนุพันธ์ หากมีประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ไทยก็อยากจะไปเชื่อมต่อ รวมทั้งยังต้องพิจารณาในเรื่องอื่นๆด้วย

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวถึงความท้าทายของบริษัทไทยที่จะขยายลงทุนในต่างประเทศว่า ภาคเอกชนทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันว่ามีโอกาสอีกมากที่บริษัทจดทะเบียนของไทยจะเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) รวมถึง CLMV และ ปัจจุบันถึงจุดที่หลายบริษัทไทยจำเป็นต้องขยายออกนอกประเทศเพื่อให้ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ เห็นว่า ภาครัฐควรสนับสนุนส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยออกไปลงทุนต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ปัจจุบันที่เน้นแต่ช่วยเหลือส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) ไปลงทุนนอกประเทศเพื่อลดต้นทุน

"ธุรกิจขนาดใหญ่อยากเห็นภาครัฐดีลกันได้ระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ อยากเห็นการสนับสนุนด้านไฟแนลเชียลซัพพอร์ต เรื่องภาษี เป็นต้น"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตลาดทุนของไทยควรยึดหัวหาดความเป็นผู้นำของกลุ่ม GMS เพราะมีกำลังเพียงพอ ขณะที่กลุ่ม GMS กำลังจะเติบโต ต้องการการลงทุนประเภท โครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด โดยตลาดทุนไทยมีความพร้อมรองรับการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และฐานนักลงทุนก็มีความสนใจที่จะลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยก็คงต้องดูตัวอย่างจากตลาดทุนสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้ามากกว่า โดยเฉพาะในด้านกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และโครงสร้างภาษี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

"วันนี้ทำไมไม่มีบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเรา ทำไมบริษัทต่างประเทศ 300 กว่าบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเราต้องกลับมาดูกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ดูตลาดหุ้นสิงคโปร์ก่อน"นายไพบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ