TPCH มั่นใจปี 59 รายได้โต 150% รุกขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้าลาว-เขมร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 8, 2016 09:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจรายได้ปี 59 เติบโต 150% จากปีก่อน หลังสามารถทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD)ได้เรียบร้อยก่อนหน้านี้ 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) จำนวน 9.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) จำนวน 8 เมกะวัตต์

ขณะที่บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่คาดว่าสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปีนี้อีก 4 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/59 โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) กำลังการผลิต 9.20 เมกะวัตต์ จะ COD ในไตรมาส 2/59 โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) กำลังการผลิต 9.20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) กำลังการผลิต 9.20 เมกะวัตต์ จะ CODในไตรมาส 4/59 ทำให้มั่นใจจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปี 59 เติบโตอย่างก้าวกระโดด

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในระยาว 5 ปี (59-63) บริษัทตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไม่ต่ำกว่า 200 เมกวัตต์ ซึ่งในสิ้นปี 59 บริษัทคาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ได้รับใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) อยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับ PPA มาแล้ว 80 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการยื่นขอ PPA ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เฟส 1 (PTG) จำนวน 20 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 50 เมกะวัตต์เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและรอการยื่นประมูล

ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในลาว ซึ่งเป็นโครงการศึกษาการลงทุนร่วมกับ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ซึ่งบริษัทแม่และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดยบริษัทคาดว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทแม่ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เซ็น MOU กับพันธมิตรท้องถิ่นในกัมพูชา เพื่อศึกษาการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิตประมาณ 90 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้บริษัทจะต้องศึกษาวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงานว่าจะสามารถเพาะปลูกได้หรือไม่

“ทั้ง 2 โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในลาวและกัมพูชาก็มีความเป็นไปได้ในการลงทุน แต่ลาวมีโอกาสที่จะลงทุนได้สูง เพราะโครงการในลาวเป็นการต่อยอดจากการศึกษาของ TPOLY และโครงการที่ลาวสามารถขึ้นได้เร็วกกว่า แต่โครงการที่กัมพูชาที่เพิ่มเซ็น MOU กับพันธมิตรท้องถิ่นไป ก็ต้องศึกษาว่าการปลูกพืชพลังงานจะปลูกได้หรือไม่ ถ้าปลูกได้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุน ถ้าปลูกแล้วไม่เวิร์คก็อาจจะไม่ลงทุน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะได้เห็นอย่างน้อย1 โครงการในต่างประเทศ"นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ส่วนแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทจะใช้วิธีที่ไม่รบกวนผู้ถือหุ้นและไม่ส่งผลให้เกิด Dilution โดยวิธีการหาแหล่งเงินทุนที่น่าสนใจในตอนนี้ก็อาจจะเป็นการออกหุ้นกู้ เพราะอัตราดอกเบี้ยตอนนี้มีความน่าสนใจ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อรอผลการจัดอันดับเครดิต

ด้านการเข้าไปลงทุนโครงการพลังงานทดแทนประเภทอื่น อย่างเช่น โครงการโซลาร์รูฟท้อปนั้น นายเชิดศักดิ์ ได้เปิดเผยเพียงว่าภายในไม่เกินเดือน มี.ค.59 นี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนหรือสามารถสรุปการลงทุนอย่างน้อย 1 โครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ