TISCO เชื่อ"ดอยช์แบงก์"ไม่ถอนตัวจากการป็นพันธมิตร แม้มีปัญหาในยุโรป

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 12, 2016 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยถึงกรณีที่มีความกังวลว่าวิกฤตการณ์ภาคการเงินรอบใหม่อาจมีศูนย์กลางปัญหาที่ "ดอยช์แบงก์" ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในเยอรมนีว่า ดอยช์แบงก์ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีของกลุ่มทิสโก้ และยังไม่เห็นสัญญาณของถอนการลงทุนร่วมกับบริษัท

ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์ อาจไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ด้อยสิทธิชนิดหนึ่งที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ประกาศผลประกอบการในปี 58 ออกมาขาดทุนสูง ทำให้มีการคาดว่าดอยช์แบงก์จะต้องมีการลดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ดอยช์แบงก์ไม่ได้มีการถือหุ้นใน TISCO โดยตรง แต่ร่วมทุนกับ TISCO ในการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนดอยช์ ทิสโก้ จำกัด ซึ่งทางบล.ทิสโก้ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ ดอยช์แบงก์ถือหุ้นในสัดส่วน 49% ดำเนินธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนหรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดทุนไทย รวมถึงการให้บริการทางด้านงานวิจัยหลักทรัพย์และบริการที่ปรึกษาการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ โดยบริษัทร่วมทุนนี้ยังคงมีการดำเนินงานตามปกติอยู่ในปัจจุบัน และยังไม่เห็นถึงโอกาสที่ดอยช์แบงก์จะตัดสินใจถอนการลงทุนในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวอีกด้วย แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า แนวโน้มของสินเชื่อรวมของธนาคารทิสโก้ในไตรมาส 1/59 คาดว่ามีโอกาสที่สินเชื่อรวมของธนาคารจะติดลบ จากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่แนวโน้มยังชะลอตัวอยู่ ประกอบสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดให้สินเชื่อรวมของธนาคารไม่เติบโตขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศยังไม่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารมองว่าตลาดรถยนต์จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในปี 60 อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สินเชื่อรวมในเดือนมกราคม 59 ของธนาคารติดลบไปแล้วเกือบ 1%

อย่างไรก็ตามธนาคารมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้สินเชื่อรวมของธนาคารอาจจะยังมีแนวโน้มติดลบได้อยู่จากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัว รวมถึงตลาดรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่เห็นแนวโน้มของยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องรอลุ้นการลงทุนในโครงการต่างๆของภาครัฐให้ออกมาชัดเจน ซึ่งหากโครงการลงทุนของภาครัฐออกมาชัดเจนนั้น จะส่งผลมาถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะตามมา ซึ่งทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำเงินไปลงทุน และมีโอกาสที่แนวโน้มสินเชื่อรวมในครึ่งปีหลังของธนาคารจะพลิกกลับมากเป็นบวกได้ จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตขึ้น โดยธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ 20% และส่งผลให้สินเชื่อรวมของธนาคารทั้งปีนี้อยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ