CPF ยันสถานประกอบกิจการ 111 แห่ง มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานดูแลแรงงานตามหลัก GLP

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 29, 2016 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปริโสทัติ ปุณณภูมิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สถานประกอบการของซีพีเอฟเข้ารับประกาศเกียรติคุณจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประกอบด้วยฟาร์มสัตว์ปีกจำนวน 107 ฟาร์ม ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2 ฟาร์ม รวมถึงโรงงานแปรรูปอาหารอีก 2 แห่ง เป็นโรงงานแปรรูปไก่ มีนบุรี และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ระโนด โดยสถานประกอบกิจการทั้ง 111 แห่งนับเป็นกลุ่มแรกที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมย์ในนำหลักปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้ในสถานประกอบกิจการ

ต่อจากนี้ บริษัทฯร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำแนะนำหลักการ GLP แก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งของบริษัทฯ และคู่ค้าทั่วประเทศ โดยที่บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าของบริษัทฯ ร่วมลงนามเพื่อประกาศแสดงความมุ่งมั่นในการนำหลักการ GLP ไปใช้ในกิจการ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน เพื่อตรวจสอบและติดตามประเมินผลการดูแลและบริหารแรงงานของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อจนครบทุกฟาร์มทั่วประเทศรวม 400 ราย ภายในสิ้นปี 59 นี้

ฟาร์มของคู่ค้าที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์กับบริษัทฯ ในการนำหลักการ GLP ในการบริหารแรงงานได้อย่างถูกต้อง จะยินยอมรับคำแนะนำเพื่อไปปรับปรุงการดูแลและบริหารแรงงาน และให้ความร่วมมือให้บริษัทฯ เข้าไปตรวจสอบฟาร์ม เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ ว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารของบริษัทฯ มีการดูแลแรงงานที่ดี ตามมาตรฐานสากล

อนึ่ง ซีพีเอฟได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออกไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมปศุสัตว์ กำหนดแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สำหรับฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทย มี หลักการสำคัญ “4 ไม่ 6 มี" ดังต่อไปนี้ “หลักการ 4 ไม่" ได้แก่ ไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานบังคับ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีการค้ามนุษย์ และ “หลักการ 6 มี" ได้แก่ มีระบบการจัดการบริหารแรงงาน มีเสรีภาพในการสมาคม มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย และมีสวัสดิการที่เหมาะสม

หลักการ GLP เป็นหลักการที่สถานประกอบกิจการนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านแรงงาน ด้วยความสมัครใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังและจริงใจขององค์กรที่จะมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวให้ดีขึ้น และเพื่อเสริมสร้างให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้ามาก ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ