BCPG ปิดเทรดวันแรกที่ 10.70 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 7%, มีบิ๊กล็อต 9 ล้านหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 28, 2016 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น BCPG ปิดเทรดวันแรกที่ 10.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท (+7%) จากราคาขาย IPO ที่ 10 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 6,006.20 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 11.20 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 11.50 บาท และราคาลงต่ำสุด 10.60 บาท

นอกจากนี้ พบบิ๊กล็อต BCPG 1 รายการ จำนวน 1 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 10 ล้านบาท เทรดในราคา 10 บาท/หุ้น และบิ๊กล็อต BCPG-F 1 รายการ จำนวน 8 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 80 ล้านบาท เทรดในราคา 10 บาท/หุ้น

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดมูลค่าที่เหมาะสมของ BCPG อยู่ในช่วง 12.4-13.2 บาท/หุ้น โดยมีเงินปันผล 4.5-6% ต่อปี โดยมูลค่าที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 2560 ให้ที่ 12.4 บาท คำนวณจากวิธี DCF-SOTP โดยรวมทั้งโครงการในไทย 130 เมกะวัตต์ (MW) และโครงการที่ญี่ปุ่น 117 MW และอีก 77.1 MW ที่ญี่ปุ่นจะรวมเข้ามาในประมาณการหลังจากที่เชื่อมต่อระบบแล้ว โดยทุก 20 MW ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น 0.23 บาท และคาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 60-70% ของกำไร

BCPG ประกอบธุรกิจโซล่าฟาร์มขนาด 118 MW ภายในประเทศภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยมี Adder 8 บาท/หน่วย โดยได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) มาแล้ว 3 เฟสในช่วงปี 2554-2557 โดยที่มี EBITDA/MW เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านบาท ในเฟสที่ 1 , 25 ล้านบาท ในเฟสที่ 2 และ 27 ล้านบาท ในเฟสที่ 3 เป็นไปตามต้นทุนการลงทุนที่ลดลง และ BCPG ได้ชนะการประมูล PPA 12 MW ภายใต้โครงการโซล่าฟาร์มสหกรณ์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในช่วงไตรมาส 1/60 โดยคาด EBITDA/MW อยู่ที่ 6.3 บาท และคาด EBITDA จากการดำเนินงานในปี 2559 ที่ 2.7 พันล้านบาท สำหรับโครงการนี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 พันล้านบาทในปี 2560-2561

ทั้งนี้ BCPG ได้เข้าซื้อกิจการโซล่าฟาร์มของ SunEdison’s ในช่วงไตรมาส 1/59 โดยมี PPA 164.1 MW โดยได้รับเงินจากการเชื่อมต่อระบบที่ 104 บาท/MW และบริษัทได้รับสัญญาขายไฟเพิ่ม 30 MW PPA ทำให้รวมแล้วมี 194 MW โดย 19.5 MW ได้เปิด COD ภายในปีนี้ และ 59.5 MW ในปี 2560-2561 (ได้รับการเชื่อมต่อแล้ว และ 38 MW ยังไม่ได้รับการเชื่อมต่อระบบ) โดยประมาณการยังไม่ได้รวมกำลังการผลิต 77.1 MW ที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการ

สำหรับโครงการโซล่าฟาร์มในญี่ปุ่น คาด EBITDA/MW ไว้ที่ 10-12 ล้านบาท โดยมี EBT ที่ 4-5 ล้านบาท และ RoE 22-25% (สำหรับ D/E ที่ 85:15) โดยคาดว่า EBITDA ของธุรกิจในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นจาก 206 ล้านบาท เป็น 1,351 ล้านบาทในปี 2561 และสำหรับปี 2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการและค่าที่ปรึกษาจะทำให้ EBITDA ลดลง 11% เป็น 2.5 พันล้านบาท ก่อนจะขึ้นเป็น 3.4 และ 3.8 พันล้านบาทในปี 2560-2561 ตามลำดับ และกำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากลดลง 18% ในปีนี้เป็นโต 23% และ 8% ในปี 2560-2561


แท็ก บิ๊กล็อต  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ