BCPG คาดปี 59 กำไรหดจากค่าใช้จ่ายซื้อกิจการในญี่ปุ่น,เล็งขยายไปเกาหลี-ไต้หวัน-ฟิลิปปินส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 18, 2016 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า คาดปี 59 กำไรสุทธิจะต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้บริษัทต้องบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อกิจการพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นที่มีมูลค่าราว 200 ล้านบาท

"ปี 59 คาดกำไรต่ำกว่าปีก่อน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการซื้อกิจการในญี่ปุ่น เช่น ค่าที่ปรึกษาฯ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ราว 200 ล้านบาท ไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ทำให้กำไรสุทธิปีนี้หายไปราว 200-300 ล้านบาท ปีหน้าก็จะไม่มีรายการนี้แล้ว"นายบัณฑิต กล่าว

ในแง่รายได้รวมปีนี้คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 58 ที่ 3,038 ล้านบาท ถึงแม้ปีนี้มีรายได้จากการขายไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเข้ามา 26 เมกะวัตต์ แต่รายได้ในประเทศปีนี้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้อกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในไตรมาส 3/59 แต่ก็ยังเหลือเวลาอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ แต่ก็เบื้องต้นก็คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงปีก่อน

ส่วนปี 60 คาดว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องตามการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่เพิ่มขึ้น โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจะ COD เพิ่มอีก 14 เมกะวัตต์ (MW) ในปีหน้า จากปัจจุบัน COD ไปแล้ว 26 MW ทำให้ในไตรมาส 1/60 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ป่นรวม 40 MW จากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 200 MW ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนาและจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบใน 1-2 ปี

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยสิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตที่ COD แล้วรวม 208 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท 172 MW และอีก 12 MW เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ที่บริษัทชนะประมูลมา 12 MW คาดว่าจะเริ่ม COD ปลายปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังจะเข้าซื้อกิจการเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งที่ COD อยู่แล้วและกำลังก่อสร้าง

นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการลงทุนในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และ ฟิลิปปินส์ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งขนาดการลงทุนค่อนข้างไซส์ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 100 MW เหมือนอย่างในญี่ปุ่นที่บริษัทเป็นการซื้อกิจการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 200 MW โดยคาดว่าน่าจะได้เห็นความชัดเจนของการขยายการลงทุนราวไตรมาส 1/60 และอาจพิจารณาหาพันธมิตรร่วมทุนด้วย

"การลงทุน เมื่อก่อนเราดู cash flow เป็นหลัก ว่าการลงทุนจะต้องมีกระแสเงินสดเข้ามา แต่พอเข้าตลาดหลักทรัพย์จะดู bottom line เป็นหลัก อย่างสมัยก่อนดูแต่ EBITDA ดู Net profit" นายบัณฑิต กล่าว

พร้อมกันนั้น บริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยจะเป็นการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อพัฒนาธุรกิจดังกล่าว โดย บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ในฐานะบริษัทแม่ได้ลงทุนในโครงการเหมืองแร่ลิเทียมที่เป็น upstream ดังนั้น BCPG ในฐานะบริษัทลูกก็สนใจลงทุนในทำ downstream

สำหรับแผนงาน 5 ปี เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 1,000 MW ภายในปี 63 ยังคงตามแผนเดิม โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5-6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในประเทศรวม 208 MW และในญี่ปุ่น 200 MW จะต้องสร้างเพิ่มอีก 500-600 MW ให้ครบตามเป้าหมาย

"เรื่องเงินเราเตรียมไว้เพียงพอ โดยเป็นเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO,เงินกู้สถาบันการเงิน และเงินจากโอกเปอเรชั่น รวมกันราว 10,000 ล้านบาท สามารถก่อหนี้ได้อีก 30,000 ล้านบาท รวมเป็น 40,000 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้นไปถึง 5-6 หมื่นล้านบาท เพราะหลัง IPO บริษัทอัตรามีหนี้สินต่อทุน (DE) ต่ำเพียง 0.8-0.9 เท่า จากก่อน IPO อยูที่ 1 ต่อ 1 ขณะที่นโยบายทางการเงินอยู่ที่ 3 ต่อ 1 หรือ 2.5 ต่อ 1"นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ