ASIAN มองแนวโน้ม Q4/59 อัตรากำไรฟื้น หลัง Q 3/59 รับผลกระทบต้นทุนวัตถุดิบ-ค่าเงินบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 15, 2016 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯในไตรมาส 4/59 คาดการณ์ว่ายอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งจะยังทรงตัว โดยมีอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากราคาขายที่สอดคล้องกับทิศทางราคาวัตถุดิบมากขึ้น ขณะที่ยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงคาดว่าจะยังคงสูงขึ้น และหากไม่นำปัจจัยเรื่องราคาวัตถุดิบที่คาดการณ์ไม่ได้มาพิจารณา ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋องคาดว่าจะมีอัตรากำไรดีขึ้นเช่นกัน

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 3/59 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 9.66 ล้านบาท ลดลง 88.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 84.82 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 7.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 11.3% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น

โดยบริษัทฯ มียอดขายที่ 2,334 ล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขายรวม 9 เดือน ที่ 6,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 5,620 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารแช่เยือกแข็ง และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋องลดลง

“กำไรสุทธิที่ลดลงสาเหตุสำคัญมาจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง และจากการที่กลุ่มบริษัทฯ มีรายรับส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐราว 2,000 ล้านบาทในไตรมาสดังกล่าว มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเงินบาทส่งผลให้กำไรของกลุ่มบริษัทลดลงราว 25 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งที่เกิดขึ้นจริงและยังไม่เกิดขึ้นอีก ราว 2 ล้านบาท (เทียบกับไตรมาส 3/58 ที่มีกำไรราว 33 ล้านบาท) และอีกส่วนมาจากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นและไม่สามารถผลักภาระให้กับลูกค้า ได้ ส่งผลให้มาร์จิ้นไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 7.6% ลดลง 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมาร์จิ้น 11.3%" นายสมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากการบริหารจัดการภายในอย่างเต็มที่ ภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดเป็นอุปสรรค โดยยอดขายในไตรมาส 3/59 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งอยู่ที่ 1,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่ราคากุ้งแวนนาไมท์พุ่งสูงขึ้นในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ราคากุ้งไซส์ใหญ่ กลับทรงตัวตลอดไตรมาส ทำให้ราคาไม่สอดคล้องกับราคาขาย ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งหลักหรือสินค้า (Commodity) ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก แต่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/59

ด้านยอดขายกลุ่มทูน่าอยู่ที่ 282 ล้านบาท ลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทูน่าลดต่ำลงในไตรมาส 2/59 ที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าชะลอสั่งซื้อ แต่ในไตรมาส 3/59 ปรากฏว่าราคาทูน่าทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,400 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาเริ่มขยับสูงขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย.59 เป็นต้นมา และคาดการณ์ว่าปริมาณขายและอัตรากำไรจะดีขึ้นในไตรมาส 4/59 สำหรับยอดขายในกลุ่มอาหารสัตว์น้ำอยู่ที่ 354 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกุ้งเพิ่มขึ้นราว 19% ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารปลาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีราคาต่ำ แต่อัตรากำไรยังคงดี

ส่วนของยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และปลาป่น อยู่ที่ 439 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของรายได้รวมในไตรมาส มียอดขายใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยยอดขายปลาป่นที่ลดลง และจากการที่บริษัทพัฒนาการขึ้นระบบ ERP เพื่อมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเลือกเพิ่มยอดขายกับกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่ง ได้แก่ เจ้าของพรีเมี่ยมแบรนด์ หรือกลุ่มร้านค้าปลีกที่ต้องการสินค้าที่เป็นตราของตัวเองซึ่งมีการเติบโต อย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่ายอดขายจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในไตรมาส 4/59

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในเดือน ต.ค.กลุ่มบริษัทเอเชี่ยน เริ่มใช้งานระบบ ERP หลังจากใช้เวลาพัฒนาระบบ 9 เดือนเต็ม โดยระบบบัญชีการเงินของบริษัทและบริษัทในเครือ เปลี่ยนมาใช้ระบบ SAP ทั้งหมด ในขณะที่ในกลุ่มธุรกิจทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นการใช้ระบบ SAP เต็มระบบ หลังจากระยะแรกที่ถือว่าเป็นระยะเวลาศึกษาเรียนรู้ระบบ คาดว่ากลุ่มบริษัทจะเริ่มได้รับประโยชน์จากการใช้ระบบในปี 60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ