TCJ ลุ้นปีนี้พลิกกำไรตั้งเป้ารายได้โตกว่า 10% งานรัฐหนุน,รุกประมูลงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้า-หวังปรับปรุงสถานีรถไฟ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ที.ซี.เจ.เอเซีย (TCJ) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมองโอกาสที่จะพลิกมีกำไรสุทธิในปีนี้ จากที่ขาดทุนสุทธิ 2.2 ล้านบาทในปีก่อน หลังตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากระดับ 1.25 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตจาก 5 ธุรกิจหลักหนุนโดยภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีออกมาทำให้มีการใช้เครื่องจักรกลหนักมากขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสให้สามารถเข้ารับงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วย

"ในช่วงที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวมาตลอด ซึ่งเราได้พบว่าการจะเป็นยักษ์ที่มีขาเดียวนั้นจะล้มก็ล้มง่าย เราจึงได้ขยายขาของธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น และตอนนี้เราก็ทำได้ตามเป้าหมายที่มีหลากหลายกิจการ ซึ่งแต่ละธุรกิจนั้นไม่ได้มีการแตกแยกออกไปจากธุรกิจเดิมมาก ส่งผลให้มีความชำนาญและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้มีเสถียรภาพมากขึ้น...ด้วยการเติบโตของรายได้ที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้นั้น ก็ทำให้มีโอกาสที่ดีของการกลับมามีกำไร"นายทรงวุฒิ กล่าว

นายทรงวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันบรัษัทมีอยู่ 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1.นำเข้า-ส่งออกจำหน่ายเครื่องจักรกล 2.ธุรกิจซื้อมาขายไปโลหะภัณฑ์ ซึ่งทั้งสองธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้ราว 20% ของรายได้รวม โดยจะเคลื่อนไหวขึ้นและลงตามภาวะเศรษฐกิจ 3.ธุรกิจให้เช่าเครื่องจักรกลหนัก พร้อมคนขับ และพนักงานซ่อมบำรุง สัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้รวม ซึ่งในปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ตามงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มออกมามากในช่วงครึ่งปีหลัง

4.ธุรกิจตกแต่งสถานีรถไฟฟ้า มีสัดส่วนรายได้อยู่ 20% โดยปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) กว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ โดยธุรกิจนี้จะเติบโตตามการขยายตัวของโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประมูลงานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีส้ม และสายสีเหลือง ที่มีสถานีรถไฟฟ้ารวมกันราว 80-100 สถานี คิดเป็นมูลค่ารวมสำหรับงานตกแต่งที่บริษัททำอยู่ ราว 3.2-4.0 พันล้านบาท

5.ธุรกิจท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ดำเนินการโดยบริษัท โตโย มิลเลนเนียม จำกัด (TOYO) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่ง TCJ ถือหุ้น 51% ในปี 60 มียอดคำสั่งซื้อเติบโตต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการ เรียกเก็บภาษีอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าท่อเหล็กไร้สนิมที่นำเข้าจากจีน ประกอบกับโรงงานน้ำตาลขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ท่อเหล็กกล้าไร้สนิมเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด TOYO มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ายาวถึงปลายปี 60 และคาดว่าปีนี้จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 4,000 ตัน ขณะที่มีกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 10,000 ตัน/ปี

นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า ด้านตลาดส่งออกนั้น ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังเมียนมา ,ลาว และกัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการจากประเทศไทยได้เข้ารับงานในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังได้เข้าไปหาตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ยังมีความต้องการสินค้าของกลุ่มบริษัทอยู่มาก

"ในอนาคตหากธุรกิจใดมีความเข้มแข็งและเติบโตเพียงพอก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย"นายทรงวุฒิ กล่าว

นายทรงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้บริษัทคาดว่าธุรกิจนำเข้า-ส่งออกจำหน่ายเครื่องจักรกล ,ธุรกิจซื้อมาขายไปโลหะภัณฑ์ และธุรกิจให้เช่าเครื่องจักรกลหนัก พร้อมคนขับ และพนักงานซ่อมบำรุง มีแนวโน้มการเติบโตตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างถนน หรือมอเตอร์เวย์ ที่ส่งผลให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อรถเครน เครื่องจักรกลหนัก รถบรรทุกติดเครน รถพ่วงเทรลเลอร์ รถขุดใช้งานขุดเจาะ และรถโฟล์คลิฟท์ เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการขายปรับตัวลดลง และมีมาร์จิ้นสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 65.82 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท จัดสรรไม่เกิน 21.94 ล้านหุ้น ขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท กำหนดจองซื้อวันที่ 22-26 พ.ค.60 ขณะที่หุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 43.88 ล้านหุ้น จะใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) TCJ-W2 ที่จะออกจำนวน 43.88 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 2 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 3 ปี อัตราการใช้สิทธิหุ้นละ 10 บาท

บริษัทคาดว่าจะได้เงินจากการเพิ่มทุนราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ซื้อเครื่องจักรใหม่ของโรงงานผลิตท่อเหล็กกล้าไร้สนิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และซื้อเครื่องจักรกลหนักเข้ามาเพิ่มในส่วนของธุรกิจให้เช่า ส่วนสุดท้ายคือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการรับงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้า

นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองถึงการขยายงานอีกกลุ่มธุรกิจ คือการเข้าไปรับงานปรับปรุงสถานีรถไฟทั่วประเทศตามที่ทางการมีแผนปรับปรุงให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หลังจากที่ไม่ได้ปรับปรุงมาเป็นเวลา 100 ปี ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์ในระยะยาว

นอกจากนี้ หากภาครัฐมีความเห็นชอบที่จะให้ผลิตตู้โดยสารรถไฟในประเทศ บริษัทก็มีความเชี่ยวชาญในการทำเหล็ก เพื่อที่จะรองรับการทำตู้โดยสารรถไฟกับผู้ประกอบการรายต่าง ๆ ได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ