BCPG ขยับเป้า EBITDA ปีนี้โตราว 25-30% รับโรงไฟฟ้าใต้พิภพในอินโดฯ,ชู"เจ็ค หม่า โมเดล"ทำ Trading Platform ไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 24, 2017 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีนี้เติบโตราว 25-30% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 20% จาก 2.26 พันล้านบาทในปีที่แล้ว หลังได้เข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานพลังงานลมในฟิลิปปินส์ และกำลังจะเข้าซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 3 แห่งในอินโดนีเซีย ทำให้สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาได้ทันทีในปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทะลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ (MW) แล้ว เร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะทำได้ภายในปี 63

ขณะที่การขยายตัวในระยะต่อไปของบริษัทจะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเติบโตพร้อมกับกลุ่มสหกรณ์ที่เป็นพันธมิตรของบริษัท รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาทำระบบ Trading Platform รองรับการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงข่ายเดียวกันได้โดยตรง เพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าอย่างมีอิสระ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้

"จากนี้ต่อไปถ้าจะทำอะไรขึ้นไปอีก จะประกาศเป้าหมายใหม่เป็น 2 พันเมกะวัตต์ดีไหม เราคงไม่ประกาศแล้ว ลักษณะการลงทุนพลังงานทดแทนพวกโซลาร์ หรือลม พวกนี้กลายเป็น commodity แล้ว สมัยก่อนทำในเมืองไทยกำไรดีมาก ได้ adder 8 บาท วันนั้นค่าไฟ 11 บาท แต่วันนี้ค่าไฟเมืองไทยเหลือ 4.12 บาท/หน่วย ถ้าอยากได้กำไรเท่าเดิมต้องสร้าง 3 เท่าตัว ก็ไม่ใช่ สู้ลงทุนเท่าเดิมแต่ได้กำไรมากกว่า เราจะกลับไปเป็นนักสะสมเมกะวัตต์เหมือนเดิมโดยที่กำไรลดลงเรื่อย ๆ ก็จะมีปัญหาสภาพคล่องตามมา ดังนั้น chapter ใหม่ของ BCPG น่าจะเป็นเรื่องการใช้นวัตกรรมนำมากกว่าการใช้เงินกว๊านซื้อเมกะวัตต์มาแล้วได้กำไรน้อย ๆ นวัตกรรมคือความยั่งยืนและมี Value ที่จะเข้ามามากกว่าเดิม"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า บริษัทก็ยังคงมองโอกาสการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมเช่นเดิมแต่ไม่ได้เร่งรีบมาก การเข้าซื้อกิจการ (M&A) ระยะต่อไปจะต้องเป็นโครงการที่ดีจริงและจะเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก จากที่ปัจจุบันก็มีผู้เสนอขายโครงการในภูมิภาคจำนวนมากตั้งแต่ระดับ 500-5,000 เมกะวัตต์เข้ามา

สำหรับทิศทางต่อไปของบริษัทที่จะให้ความสนใจมากขึ้นสำหรับเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะจะส่งผลดีต่อเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ที่เป็นพันธมิตรของบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งล่าสุดบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm ที่รัฐบาลจะประกาศรับซื้อในปีนี้รวม 300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะยื่นข้อเสนอราว 2-3 โครงการ กำลังผลิตโครงการละ 30 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ก็จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็น Trading Platform เพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการข่ายเดียวกันโดยไม่ต้องพึ่งระบบส่งของรัฐบาล ก็จะช่วยลดภาระของรัฐบาลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ ขณะที่หากการดำเนินการดังกล่าวสามารถพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้ในระดับโกลบอล ก็จะทำให้ได้รับอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการพัฒนาระบบเพียงพื้นที่ใดพื่นที่หนึ่งเท่านั้น

"เราก็เหมือนอาลีบาบา แจ็ค หม่า ได้อะไร ผมก็ได้แบบแจ็ค หม่า เราก็สร้าง internet platform ต้องจับมือกับคนที่เป็นพัฒนาด้านนี้ซึ่งมาจากต่างประเทศ ตอนนี้พยายามที่จะทำให้เป็นรูปธรรม...อย่างบ้านติดกัน 3 บ้าน หลังคามีรูฟท็อป ถ้ามีไฟเหลือก็มาโพสต์บนอินเตอร์เน็ตบน Trading Platform ตื่นเช้ามาเปิดบนมือถือ มีคนโพสต์มี energy เหลืออยู่ที่นี้ ราคาเท่านี้ อีกคนบอกมีเท่านี้ ราคาเท่านี้ ก็เลือกซื้อขายหักบัญชีกันได้เลย อยากเห็นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ที่สหรัฐฯก็มีการทำอยู่แล้ว"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนารูปแบบการทำ Trading Platform ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นอย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้ สำหรับพื้นที่ที่มีหลังคาสามารถติตดั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ และอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดียวกัน ซึ่งหากพื้นที่ใดที่ยังไม่ได้สาธารณูปโภคดังกล่าว บริษัทก็พร้อมที่จะดำเนินการให้ตั้งแต่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการวางสายโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ด้วย ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้คาดว่าจะใช้เงินไม่มากนัก

"ที่เราลงทุนเป็น total system ก็จะเห็นว่าอนาคตของพลังงานจะเป็น distributed energy , sharing economy ,Internet of Things อนาคตของการค้าขายไฟฟ้าจะเป็น distributed เป็นขนาดเล็ก ๆ ช่วยกันทำ อิเล็กตรอนไปทางไหนก็ไปทางอินเตอร์เน็ต คือ Internet of Things แล้ว sharing economy คือผู้ผลิตของเหลือก็แบ่งปันกัน"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในส่วนของ EBITDA ที่เติบโตขึ้นในปีนี้จะมาจากโครงการในมือที่มีอยู่ (organic growth) ที่ในปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ในปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวม 185 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศ 130 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม ญี่ปุ่น 40.6 เมกะวัตต์ และพลังงานลมในฟิลิปปินส์ 14.4 เมกะวัตต์

ขณะที่เมื่อประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ อนุมัติการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย รวม 3 แห่ง ที่จะมีสัดส่วนการถือหุ้นราว 17-20% นั้นก็คาดว่าการดำเนินการโอนหุ้นน่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/60 และจะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วเพิ่มเข้ามาอีก 158 เมกะวัตต์โดยทันที

ส่งผลให้มีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 577 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งที่ COD แล้วจำนวน 343 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังผลิตติดตั้งในไทย 182 เมกะวัตต์ COD แล้ว 130 เมกะวัตต์ , ญี่ปุ่น กำลังผลิตติดตั้ง 192.3 เมกะวัตต์ COD แล้ว 40.6 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอย COD ได้หมดภายในปี 63 ,ฟิลิปปินส์ กำลังผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ COD แล้ว 14.4 เมกะวัตต์ และอินโดนีเซีย กำลังผลิตติดตั้ง 182 เมกะวัตต์ COD แล้ว 158 เมกะวัตต์

นายบัณฑิต กล่าวว่า การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย จะใช้เงินลงทุนราว 1.23 หมื่นล้านบาท จะมาจากเงินกู้ราว 60% ส่วนที่เหลือจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่โรงไฟฟ้า 1 ใน 3 แห่งนั้น อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาเพิ่มกำลังการผลิตในหน่วยการผลิต 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ รวม 120 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้จะใช้กระแสเงินสดของโรงไฟฟ้าดังกล่าวในการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ในช่วงปี 63 และ 65 ตามลำดับ

สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น ปัจจุบันสามารถดำเนินการให้มีอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีมากจากการประหยัดต้นทุน ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง และการนำเทคโนโลยีเข้าไปก่อสร้างทำให้สามารถสร้างได้เร็วขึ้นก็จะมีต้นทุนค่าก่อสร้างถูกลง รวมถึงยังสามารถปิดดีลการซื้อโซลาร์ฟาร์มจากกลุ่ม SunEdison ได้สำเร็จทั้งหมด จากเดิมที่การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะเป็นลักษณะทยอยซื้อตามความสำเร็จของโครงการ ทำให้ได้ส่วนลดจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว และจะส่งผลให้มีกำไรจากการเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทได้ลงนามในสัญญา Settlement Agreement กับบริษัทในกลุ่ม SunEdison ที่จะชำระค่าซื้อกิจการงวดสุดท้ายประมาณ 1,600 ล้านเยนเรียบร้อยแล้ว

ส่วนในไทยนั้น นอกจากการจะเข้าร่วมเสนอโครงการรับซื้อไฟฟ้าแบบ SPP Hybrid Firm แล้ว บริษัทยังพร้อมที่จะเข้าร่วมทำโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลจะรับซื้อไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ โดยจะจับมือกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เข้ายื่นเสนอ 10 โครงการ รวม 50 เมกะวัตต์ และจะร่วมกับสหกรณ์ภาคการเกษตรอีก 30 โครงการ รวม 150 เมกะวัตต์ ทำให้จะยื่นเสนอครั้งนี้รวม 200 เมกะวัตต์ และคาดหวังว่าจะได้รับการคัดเลือกราว 10% หรือ 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งในไทยเพิ่มเป็นราว 200 เมกะวัตต์ได้จากปัจจุบันที่มี 182 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ