BANPU คาดผงาน H2/60 รับผลบวกจากราคาถ่านหินสูง แม้อาจถูกกระทบจากโรงไฟฟ้า BLCP-หงสาหยุดซ่อม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 16, 2017 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บม.บ้านปู (BANPU) คาดว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะได้รับผลบวกจากราคาถ่านหินที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับ 66.6 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในช่วงครึ่งปีแรก หลังราคาตลาดโลกปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่ยังมีปริมาณถ่านหินในอินโดนีเซียที่ยังไม่ได้ทำราคาขายอยู่ราว 29-30% ที่ยังขายได้ตามราคาตลาดโลก แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ผลประกอบการของ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) อาจจะได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ในไทย และโรงไฟฟ้าหงสา ในลาวก็ตาม

“บ้านปูเราดูที่ราคาถ่านหินเป็นหลัก ราคาถ่านหินช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำได้สูงกว่า 67 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก supply ในอินโดนีเซียและออสเตรเลียที่น้อยลง จากปัญหาฝน พายุ ขณะที่ demand จีน และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียเหนือยังมีอยู่"นางสมฤดี กล่าว

อนึ่ง ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ BANPU มีกำไรสุทธิ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้จากการขาย 1,266 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันมีกำไรจากธุรกิจถ่านหินในสัดส่วน 50% ,ธุรกิจไฟฟ้า ราว 40% ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากธุรกิจก๊าซฯและอื่นๆ

นางสมฤดี กล่าวว่า ปริมาณการขายถ่านหินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ทำได้ราว 22 ล้านตัน แม้ในช่วงไตรมาส 2/60 การผลิตถ่านหินในอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก แต่ได้ดึงสต็อกมาขายทำให้ปริมาณขายยังทำได้ตามเป้า และยังคงเป้าหมายการขายถ่านหินในปีนี้ที่ระดับ 45 ล้านตัน จากเหมืองในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน

ด้านราคาถ่านหินในตลาดโลกปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงและแตะระดับ 3 หลัก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในช่วงสั้น ๆ จากปัญหาปริมาณถ่านหินที่ตึงตัว ขณะที่บริษัทได้ขายถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซียล่วงหน้าไปแล้วราว 68% ที่ราคาเกิน 66 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยังคงเหลือรอขายอีก 29-30% ในราคาตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นมากในช่วงนี้ แม้มองว่าจะเป็นแค่ระยะสั้น แต่ภาพทั้งปีนี้ก็เชื่อว่าราคาถ่านหินในตลาดโลกจะยังทรงตัวสูงที่เฉลี่ย 80-85 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทในปีนี้น่าจะมากกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกสำหรับปี 61 ก็ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 80-85 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ดี หลังจากปริมาณถ่านหินน่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน

นอกจากนี้ บริษัทยังมองกลยุทธ์การเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินจากเหมืองเดิมที่มีอยู่ด้วยการขุดเหมืองให้ลึกขึ้น และการเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินจากเหมืองข้างเคียง ด้วยการนำถ่านหินดังกล่าวมาผสมกับถ่านหินจากเหมืองของบริษัทที่มีคุณภาพดีเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า

ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าก็มองโอกาสการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ให้ได้ตามเป้าหมาย 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 68 โดยในส่วนนี้ราว 20% หรือประมาณ 1,000 เมกะวัตต์จะมาจากพลังานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสัดส่วนราว 12%

ส่วนธุรกิจการผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) ในสหรัฐนั้น ก็มีเป้าหมายที่จะใช้เงินลงทุนอีกราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อหาซื้อแหล่งผลิต shale gas เพิ่มเติม เพื่อให้มีกำลังการผลิต shale gas เพิ่มเป็น 78 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ 49 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ครบตามเป้าหมายก็จะทำให้มีรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มเป็นราว 75 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี จากปัจจุบันอยู่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี

นางสมฤดี ยังคงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปีนี้จะดีกว่าปีก่อนทั้งในด้านของกำไรสุทธิและรายได้ จากราคาถ่านหินที่สูงขึ้นแม้ว่าปริมาณขายถ่านหินจะทรงตัว ส่วนธุรกิจไฟฟ้าก็จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้วเพิ่มขึ้นราว 7% จากปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าดีขึ้นด้วย

ด้านนายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BPP กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าตามแผนงาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งจะหยุดซ่อมบำรุง ยูนิต 2 ในช่วงไตรมาส 3/60 ประมาณ 2 สัปดาห์ และหยุดซ่อมบำรุง ยูนิต 1 ในช่วงไตรมาส 4/60 ประมาณ 10 สัปดาห์

ส่วนโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว ซึ่งมีทั้งหมด 3 ยูนิต ขณะนี้อยู่ระหว่างหยุดซ่อมบำรุง 1 ยูนิต เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเตรียมกลับมาเปิดการผลิตอีกครั้งในเดือนก.ย.นี้ และจะหยุดอีก 1 ยูนิต ในช่วงไตรมาส 4/60 เป็นเวลา 2 สัปดาห์

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 2/60 ที่ผลประกอบการของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และหงสา ดีขี้นต่อเนื่อง

ปัจจุบัน BPP มีโครงการโรงไฟฟ้าในไทย,ลาว ,จีน และญี่ปุ่น ทั้งหมด 26 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 2,686 เมกะวัตต์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/60 เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 14 โครงการ กำลังงการผลิต 2,057 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 12 โครงการ ซึ่งจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในปี 63

นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ทั้งพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงหลัก โดยให้ความสำคัญในญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในอินโดนีเซีย ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ลม แสงแดด ในลาว เวียดนาม ส่วนในไทยก็อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าร่วมประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ