โบรกฯเชียร์"ซื้อ"IVL มองกำไรปีนี้เติบโต รับผลบวกปริมาณขายเพิ่มจากการเข้าซื้อกิจการ-เปิดรง.ใหม่,มาตรการภาษีสหรัฐฯหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 17, 2018 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มองกำไรปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รับผลบวกจากปริมาณขายที่จะสูงขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมเมื่อปีที่แล้ว และการเปิดดำเนินการของโรงงานใหม่ในปีนี้

นอกจากนี้ยังจะได้รับประโยชน์จากการมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนการปรับฐานภาษีนิติบุคคลลง และจะออกมาตรการภาษีเพื่อป้องกันการทุ่มตลาด (ADD) กับประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะป้องกันการทุ่มตลาดสินค้าพวก PET ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้า PET และเป็นผลบวกกับผู้ผลิตที่มีโรงงานในประเทศอย่าง IVL

พักเที่ยงราคาหุ้น IVL อยู่ที่ 57.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.43% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.04%

          โบรกเกอร์                 คำแนะนำ                    ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          ซีไอเอ็มบีฯ        	      ซื้อ                         	 80
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง	              ซื้อ	 		         70
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ              ซื้อ                                65
          กรุงศรี                       ซื้อ                                70
          เอเชีย เวลท์                  ซื้อ                                63
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์              ซื้อ                                60

นายสุวัฒน์ สินสาฎก ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าซื้อธุรกิจเกี่ยวกับเส้นใยของ IVL ในปีที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้กำไรของ IVL สร้างฐานใหม่ในปีนี้ โดยคาดว่าปีนี้จะมีกำไรเติบโตราว 50% จากเดิมอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท/ปี และน่าจะยังผลักดันให้กำไรสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการส่วนใหญ่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ specialty ทั้งหมด อีกทั้งปีนี้ยังมีการก่อสร้างและเปิดดำเนินการโรงงานใหม่ เช่น โรงงานอีเทนแครกเกอร์ รวมถึงการได้ประโยชน์จากการที่เข้าไปกำหนดมาร์จิ้นของสินค้ากลุ่ม PET กับผู้ซื้อในอเมริกาและยุโรปไว้แล้วจะทำให้กำไรรวมของ IVL โดดเด่นมาก โดยมองกำไรปีนี้ทำนิวไฮที่ไม่ต่ำกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันมาตรการภาษีเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดของสหรัฐฯและยุโรป ยิ่งทำให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯและยุโรปคือ IVL ได้ประโยชน์มากขึ้นอีก เนื่องจาก IVL เป็นบริษัทไทยบริษัทเดียวที่มีโรงงานทั่วโลก

ด้านบทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่าปัจจัยเร่งทางบวกกับ IVL ในปีนี้มีหลายประเด็นคือ การเพิ่มปริมาณการจำหน่ายหลังมีการเข้าซื้อกิจการอุตสาหกรรม PET ที่แข็งแกร่ง และการห้ามนำเข้า scrap จากจีน นอกจากนี้แคนาดาได้มีการออกกฎเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการห้ามทุ่มตลาด (antidumping countervailing) สินค้าประเภท PET จากจีน อินเดีย โอมานและปากีสถาน ดังนั้น ผู้ผลิตในประเทศอย่าง IVL และรายอื่น ๆ จึงได้ประโยชน์

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างภาษีของสหรัฐฯ ยังช่วยเพิ่มความสามารถการทำกำไรของ IVL ด้วย โดยได้ปรับประมาณการกำไรปี 61 เพิ่มขึ้นอีก 6% เพื่อสะท้อนปัจจัยบวกนี้ ยังผลให้กำไรหลักปีนี้เติบโตก้าวกระโดดถึง 39% จากปีก่อน โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.60 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในการเปลี่ยนเกณฑ์เกี่ยวกับโครงสร้างภาษี (Tax Reform Bill) สำหรับภาษีของกิจการได้ปรับลดจากปัจจุบันที่ 35% เป็น 21%

สมมติฐานว่ากำไรที่เป็นเงินสด (EBITDA) ที่มาจากส่วนธุรกิจที่อเมริกาเหนือเป็นสัดส่วนถึง 40% จาก EBITDA ทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มาก จึงนับได้ว่า IVL ได้ประโยชน์จากการนี้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังคาดว่า IVL มีโอกาสจะบันทึกกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (one time income) เพราะการปรับปรุงเกี่ยวกับภาษีหน่วง (deferred tax) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีข้างต้น

ขณะที่บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หลังจากที่สหรัฐเริ่มใช้มาตรการภาษีป้องกันการทุ่มตลาด สำหรับการนำเข้า PET จาก 4 ประเทศเมื่อเดือนมี.ค.59 และเตรียมนำมาใช้กับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ปากีสถาน และ อินโดนีเซีย โดยจะประกาศอัตราภาษีดังกล่าวในเดือนมี.ค.61 คาดจะกระทบการนำเข้า PET ประมาณ 5.65 แสนตัน และเป็นบวกกับผู้ผลิต PET ในสหรัฐ คือ IVL นอกจากนี้การที่ M&G ประสบปัญหาทางการเงิน และต้องหยุดก่อสร้างโรงงาน PTA ใหม่ ปริมาณ 1.3 ล้านตัน และ โรงงาน PET ปริมาณ 1.1 ล้านตัน ในเท็กซัส ส่งผลให้ PET spread ในตะวันตกขยับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณขายของ IVL จะเพิ่มขึ้น 16% ในปี 61 เป็น 10.7 ล้านตัน เนื่องจากการขยายกำลังการผลิต PTA ที่โรงงานในรอตเตอร์ดัม ในไตรมาส 3/60 รวมถึงการเริ่มเปิดดำเนินการโรงงานอีเทนแครกเกอร์ ในสหรัฐในเดือนก.พ.61 และกำลังการผลิต PTA ที่เพิ่มขึ้นจากกิจการในโปรตุเกส นอกจากนี้ IVL จะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงาน automotive fabric ในจีนอีก 40% และ เพิ่มอัตราการใช้กำลังการ ผลิต IPA ที่ Cepsa Spain อีกเท่าตัวเป็น 90% ในกลางปี 61

ขณะเดียวกัน IVL ยังให้ความสนใจลงทุนโรงงาน PET ของ M&G ในบราซิล ซึ่ง IVL ยังไม่มีโรงงานตั้งอยู่ ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะเจรจาซื้อโรงงานนี้ได้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาสที่ 1/61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ