THAI ตั้งเป้าปี 58 พลิกมีกำไร-กระแสเงินสดดีขึ้นตามแผนปฏิรูปองค์กร

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 27, 2015 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินการในปี 58 จะดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 26 ม.ค. 58 โดยมีเป้าหมายให้บริษัทมีกำไรและกระแสเงินสดที่ดีขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน และกลับมาอย่างสง่างามในฐานะสายการบินแห่งชาติที่เป็นความภูมิใจของคนไทย

ทั้งนี้ แผนประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ หยุดการขาดทุน , สร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และ เร่งการเติบโตโดย่างมีกำไรในระยะยาว

ทั้งนี้ แผนปฏฺรูปตามขั้นตอนดังกล่าวจะขับเคลื่อนโดยกลยุทธ์หลัก 6 กลยุทธ์ได้แก่

1.การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Strategy) โดยยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ทำกำไร ซึ่งจะมีการประเมินผลทุก 3 เดือน เพื่อปรับลดหรือเพิ่มเส้นทางได้อย่างเหมาะสม

2.การปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) โดยการลดแบบเครื่องบินเพื่อลดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่ และด้านพนักงงานลงตามไปด้วย พร้อมทั้งเร่งรัดขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางการใช้งานแล้ว จอดรอขาย 22 ลำในเดือน ก.ค. 58 อย่างไรก็ตาม แผนการรับมอบเครื่องบินยังคงตามแผนเดิม โดยในปี 58 มีแผนรับมอบเครื่องบินรวม 5 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบิน B777-300ER จำนวน 3 ลำ และ B787-8 จำนวน 2 ลำ

3.การพาณิชย์ (Commercial Strategy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยหาทางเพิ่มรายได้จากการทุกช่องทางการขายตั๋ว ทั้งเพิ่มสัดส่วนการขายที่นั่ง่ของการบินไทยต่อการขายทั่งหมดของผู้แทนจัดจำหน่าย หรือ เอเย่นต์ เพิ่มสัดส่วนการขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอื่น เช่น ลูกค้ากลุ่มองค์กรบริษัท

4.การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นุทน (Operations & Cost Strategy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากลรวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย

5.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (Organization Strategy) เพื่อให้การตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น

6.การจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัท (Portfolio Strategy)อย่างเป็นระบบ กำหนดธุรกิจหลัก (Core Business) และธรกิจสนับสนุน (Non-core Business)ให้ชัดเจน

ขณะเดียวกันคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของโลกในปี 58 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 57 จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทย น่าจะปรับตัวในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมการบินโลก จากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่คลี่คลายลงช่วยทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้มแข็งขึ้น

ประกอบกับยังมีปัจจัยสนับสนุนในการเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นตลาดบินร่วมอาเซียน(ASEAN Single Aviation Market หรือ ASAM) ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณการเดินทางขนส่งทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังทวีความรุนแรงจากสายการบินต้นทุนต่ำที่เปิดใหม่และสายการบินต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดการบินของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 57 บริษัทมีผลขาดทุนส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 15,612 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนมีผลขาดทุน 12,047 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 29.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.2% ถึงแม้ว่าบริษัทได้มีการปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลงแล้วก็ตาม

โดยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.1% แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลงในอัตราที่สูงถึง 9.9% อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)เฉลี่ย 68.9% ลดลงจากปี 56 ซึ่งเฉลี่ย 74.1% ทำให้รายได้จากการขายหรือการให้บริการลดลดงถึง 17,969 ล้านบาท หรือ 8.7% มาที่ 188,367 ล้านบาท จากปี 56 มีรายได้จากการขายที่ 203,336 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปี 57 บริษั่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 12,623 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,895 ล้านบาท

และปี 57 มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 6,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 916 ล้านบาท ที่ 5,426 ล้านบาท ทำให้บริษัทและบริษัทย่อยเกิดผลขาดทุนต่อหุ้น 7.15 บาท จากปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 5.52 บาท

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีผลกำไรก่อนหักต้นทุนการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน (EBITDA) จำนวน 3,589 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มี EBITDA 22,474 ล้านบาท หรือลดลง 84% โดยมี EBITDA Margin 1.9% ลดลงจากปีก่อนที่เท่ากับ 10.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ