IRPC เผยกำไรสุทธิ Q2/60 หดตัว 67% จากงวดปีก่อน แม้ปริมาณกลั่นน้ำมันเพิ่ม แต่มีขาดทุนสต็อกฉุดผลงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 4, 2017 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 2/60 ลดลง 67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ปริมาณการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากอุปทานส่วนเกิน ทำให้มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันสุทธิ 1.18 พันล้านบาท ขณะที่ในงวดปีที่แล้วมีกำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1.42 พันล้านบาท

IRPC มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/60 ที่ระดับ 1.23 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 3.71 พันล้านบาทในไตรมาส 2/59 โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ระดับ 3.71 พันล้านบาท ลดลง 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีรายได้จากการขายสุทธิ 4.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากงวดปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ได้ผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนก.ค.59

โดยกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มตามราคาตลาด (Market GIM) ที่ระดับ 13.58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 13.39 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในงวดปีก่อน เนื่องจากราคาเฉลี่ยของกลุ่มปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากโครงการ EVEREST แต่ในส่วนของกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มทางบัญชี (Accounting GIM) อยู่ที่ 11.64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 15.81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/59 จากราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ขาดทุนสต็อกน้ำมัน ซึ่งในไตรมาส 2/60 มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1.18 พันล้าบาท ขณะที่ในงวดปีก่อนมีกำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิ 1.42 พันล้านบาท ขณะเดียวกันในงวดไตรมาสนี้ยังมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 315 ล้านบาท จากโครงการ UHV ที่ผลิตเชิงพาณิชย์

สำหรับในไตรมาส 2/60 บริษัทมีปริมาการกลั่นน้ำมันรวม 1.94 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.82 แสนบาร์เรล/วัน ในไตรมาส 2/59 คิดเป็นอัตราการใช้กำลังการกลั่นในไตรมาส 2/60 ที่ระดับ 90% ขณะที่โรงงาน RDCC (Residue Deep Catalytic Cracking) ซึ่งเป็นหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันหนัก มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 82% เนื่องจากหน่วยเตรียมวัตถุดิบของโรงงาน RDCC เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยจึงหยุดเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด

ส่วนสถานการณ์ของตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/60 มีแนวโน้มทรงตัว โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 45-49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการลดกำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลง โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับที่ตกลงเมื่อเดือนพ.ย.59 โดยเฉพาะอิรัก ผู้ผลิตอันดับ 2 ของกลุ่มที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ อีกทั้งไนจีเรียและลิเบียที่ได้รับการยกเว้นยังคงเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ