ภาวะตลาดน้ำมันวิตกหนี้ยุโรปถ่วงน้ำมัน WTI ปิดร่วง 72 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Saturday June 9, 2012 07:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาวะตลาดน้ำมัน: สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากสถานการณ์ไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรป อันเนื่องมาจากวิกฤตภาคธนาคารสเปนและการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอล่าสุด

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ปรับตัวลง 72 เซนต์ หรือ 0.85% ปิดที่ 84.10 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ดี สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 87 เซนต์ หรือ 1.05%

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 46 เซนต์ หรือ 0.46% ปิดที่ 99.47 ดอลลาร์ ขณะที่ตลอดสัปดาห์ สัญญาปรับขึ้น 1.04 ดอลลาร์ หรือ 1.06%

ตลาดน้ำมันร่วงลงหลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้หั่นอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 3 ขั้น สู่ระดับ BBB จากเดิมที่ A พร้อมระบุว่า ภาคธนาคารสเปนอาจต้องการเงินช่วยเหลืออย่างน้อย 1 แสนล้านยูโร

โดยเมื่อวันศุกร์ได้มีรายงานว่า สเปนเตรียมที่จะขอเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อช่วยภาคธนาคารของประเทศ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหภาพยุโรป (อียู) 2 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินช่วยเหลือยังไม่เป็นที่ชัดเจน ซึ่งระบบธนาคารที่กำลังประสบปัญหาของสเปนยังคงสร้างแรงกดดันให้กับตลาด

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าววานนี้ว่า ผู้นำยุโรปกำลังเผชิญความจำเป็นเร่งด่วนให้รีบลงมือดำเนินการแก้ไขวิกฤตในภูมิภาค เนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะเผชิญภาวะถดถอยรอบใหม่นั้นได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอหลายรายการ ซึ่งรวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลีที่หดตัวลงในเดือนเม.ย.และยอดส่งออกของเยอรมนีที่ร่วงลงเกินคาด นับเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในยุโรปกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในภูมิภาค

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันให้กับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน หลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ในระหว่างการแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเจรจารอบใหม่ระหว่างอิหร่านและสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ที่ไม่มีความคืบหน้าหรือไม่มีวี่แววว่าจะนำไปสู่การทำข้อตกลงเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานยูเอ็นได้เข้าตรวจสอบโรงงานสำคัญๆของอิหร่านนั้น อาจหมายถึงความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลางและช่วยให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดได้

ทั้งนี้ อิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจของโลก ได้แก่ สหรัฐ จีน รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ยังมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์ ก่อนการเจรจารอบ 3 จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ที่กรุงมอสโก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ