ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $1.8 เหตุนักลงทุนเทขายทองหลังดาวโจนส์พุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 14, 2017 07:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ทำนิวไฮติดต่อกัน 2 วันทำการนั้น ได้กดดันให้นักลงทุนเทขายสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.8 ดอลลาร์ หรือ 0.15% ปิดที่ระดับ 1,217.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 19.6 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 15.691 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 11.90 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 907.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 6.80 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 854.75 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปิดตลาดปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทำนิวไฮติดต่อกัน 2 วันทำการ อันเนื่องมาจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เน้นย้ำในระหว่างการแถลงนโยบายรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า การปรับลดงบดุลของเฟดจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน

ส่วนในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า นางเยลเลนกล่าวว่า เฟดพร้อมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ การที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำเช่นกัน โดยเมื่อดอลลาร์แข็งค่า จะส่งผลให้สัญญาทองคำมีมูลค่าที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 247,000 ราย ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน โดยตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 123 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ