ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นทะลุ 1,300 ดอลลาร์ หลังดอลลาร์อ่อน,ตัวเลข CPI ต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 13, 2017 23:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ จากปัจจัยการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เหนือในปีนี้

ณ เวลา 23.18 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ดีดตัวขึ้น 6.70 ดอลลาร์ หรือ 0.52% สู่ระดับ 1,303.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทะยานขึ้น 0.6% หลังจากดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้น 13.1% ของราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 หลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์พัดถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐ จนทำให้โรงกลั่นน้ำมันจำนวนมากต้องปิดการดำเนินงานชั่วคราว

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนก.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.3% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.9% ในเดือนส.ค.

อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือนก.ย. โดยเป็นการดีดตัวขึ้น 1.7% เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 101.1 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสูงกว่าระดับ 95.3 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นายริชาร์ด เคอร์ติน หัวหน้านักวิเคราะห์สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มขยายตัวไปจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นการขยายตัวยาวนานที่สุดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1800

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ