In Focusนักวิเคราะห์เตือนระเบิดเวลาลูกใหม่ 23 มิ.ย. ตลาดโลกช็อกผลโหวต Brexit

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 1, 2016 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในเดือนนี้ รัฐบาลอังกฤษจะจัดทำประชามติในประเด็นที่ว่าจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ ในขณะที่หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างเตือนว่าสิ่งนี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก

คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จะทำการเจาะลึกความเป็นมาของสหภาพยุโรป, เหตุผลของแต่ละฝ่ายในอังกฤษในการสนับสนุน หรือคัดค้านการถอนตัวจากสหภาพยุโรป รวมทั้งผลกระทบที่ไทยและประเทศต่างๆอาจได้รับจากการทำประชามติดังกล่าวในวันที่ 23 มิ.ย.

*ความเป็นมาของสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของยุโรป มีจุดกำเนิดจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 และ 2501ตามลำดับ ต่อมามีการใช้ชื่อ สหภาพยุโรป ในปี 2536 ภายใต้สนธิสัญญามาสทริชท์ ในช่วงแรกมีประเทศก่อตั้ง 6 ประเทศ และได้มีการขยายสมาชิกทั้งสิ้น 6 ครั้ง ซึ่งครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2547 โดยมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ

ขณะนี้ สหภาพยุโรปประกอบด้วย 28 ประเทศ ซึ่งได้แก่ กรีซ โครเอเชีย ไซปรัส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ บัลแกเรีย เบลเยียม โปรตุเกส โปแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ มอลตา เยอรมนี โรมาเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย สเปน สโลวาเกีย สโลวีเนีย สวีเดน อังกฤษ (สหราชอาณาจักร) สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย อิตาลี เอสโตเนีย ไอร์แลนด์ และฮังการี

ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้นั้น ประเทศต่างๆจะต้องผ่านเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เรียกว่า "เกณฑ์โคเปนเฮเกน" ซึ่งกำหนดไว้ว่าประเทศที่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและเคารพต่อกฎหมาย ภายใต้สนธิสัญญาสหภาพยุโรป ขณะที่การขยายสหภาพยุโรปต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละประเทศ และผ่านการรับรองจากสภายุโรป

ถึงแม้สหภาพยุโรปป็นการรวมกลุ่มของรัฐ หรือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างของสหภาพยุโรปมีลักษณะ "เหนือชาติ" (supranational trait) เนื่องจากบรรดาประเทศสมาชิกไม่เพียงรวมตัวกันเท่านั้น แต่สถาบันหรือหน่วยงานภายในสหภาพยุโรปจะมีอำนาจเหนือประเทศสมาชิก โดยองค์กรเหล่านี้ ประกอบด้วย สภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปได้พัฒนาตลาดเดี่ยวผ่านระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้บังคับในประเทศสมาชิก โดยมีการยกเลิกการควบคุมหนังสือเดินทาง ขณะที่นโยบายสหภาพยุโรปมุ่งประกันการเคลื่อนย้ายแรงงาน สินค้า บริการและทุนอย่างเสรี รวมทั้งออกกฎหมายในกิจการยุติธรรมและมหาดไทย และคงไว้ซึ่งนโยบายการค้า เกษตรกรรม การประมง และการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน

*เจาะลึกรายละเอียดการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์

จุดเริ่มต้นของการทำประชามติในครั้งนี้ มาจากคำสัญญาของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่กล่าวว่า เขาจะจัดการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ หากเขาได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในปีที่แล้ว

ที่จริงแล้ว การทำประชามติครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นที่อังกฤษประเทศเดียวแต่รวมทั้งสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยจะจัดทำประชามติพร้อมกันในวันที่ 23 มิ.ย.

หัวข้อในการทำประชามติครั้งนี้คือ "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือควรออกจากสหภาพยุโรป" โดยผู้ลงประชามติสามารถเลือกคำตอบได้ 1 คำตอบ ระหว่าง "ยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป" หรือ "ออกจากสหภาพยุโรป"

ผู้ที่มีสิทธิลงประชามติจะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี โดยเป็นผู้ที่อยู่ในสหราชอาณาจักร รวมทั้งประชากรในสหราชอาณาจักรที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศไม่ถึง 15 ปี ก็มีสิทธิลงประชามติเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นประชาชนในเครือจักรภพอังกฤษที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เช่น ผู้ที่มาจากแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย ก็มีสิทธิลงคะแนนเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การที่มีการกำหนดวันทำประชามติเป็นวันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งตรงกับช่วงจัดเทศกาลดนตรีแกลสตันเบอรี ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร และตรงกับการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือศึกยูโร 2016 ก็อาจจะทำให้การทำประชามติดังกล่าวถูกดึงดูดความสนใจไปบ้าง

ส่วนการตัดสินผลแพ้ชนะในการทำประชามติครั้งนี้ ยึดตามหลักฝ่ายใดได้คะแนนเสียงมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็จะได้รับชัยชนะทันที โดยไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือกำหนดจำนวนผู้ที่ต้องออกมาใช้สิทธิแต่อย่างใด

*อังกฤษหวังปลดแอกกฎเกณฑ์สหภาพยุโรป เบื้องหลังเหตุผลฝ่ายต้องการถอนตัว

อังกฤษเข้าร่วมสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2517 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว เนื่องจากมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมตัวกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี กระแสเรียกร้องให้มีการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ได้ดังกระหึ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากบรรดานักการเมืองทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ รวมทั้งนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน นอกจากนี้ ยังมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ซึ่งต่อมาสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมออกมาแถลงว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากพระองค์ทรงสถานะความเป็นกลางทางการเมือง

เหตุผลที่กลุ่มสนับสนุนการแยกตัวจากสหภาพยุโรปอ้างขึ้นมา ก็คือประเด็นทางด้านกฎหมาย เพราะสหภาพยุโรปมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลประเทศสมาชิก ทำให้อังกฤษไม่สามารถออกกฎหมายที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปได้ เพราะต้องยอมรับใน "อำนาจรัฐเหนือรัฐ" ส่งผลให้อังกฤษไม่สามารถคัดกรองคนในสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้าประเทศ และจะออกกฎหมายมากีดกันก็ไม่ได้ เพราะขัดแย้งต่อนโยบายการเคลื่อนย้ายพลเมืองโดยเสรีในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ชาวอังกฤษที่หนุนให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ก็เนื่องจากต้องการสกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเข้ามาแย่งงานทำ รวมทั้งจำกัดผู้อพยพที่เข้าประเทศ เนื่องจากเป็นนโยบายของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้สมาชิกรับผู้อพยพ

กลุ่มผู้ที่สนับสนุน Brexit ยังไม่เห็นด้วยที่อังกฤษต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อสนับสนุนสหภาพยุโรปเป็นเงินไม่ใช่น้อยในแต่ละปี โดยปีที่แล้ว อังกฤษต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกภาพสูงถึง 8.5 พันล้านปอนด์ ทำให้กลุ่มดังกล่าวมองว่า การแยกตัวจะทำให้อังกฤษมีเงินจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ แทนที่จะนำไปให้แก่ประเทศอื่นในยุโรป

นอกจากนี้ ในด้านภูมิศาสตร์ การที่อังกฤษเป็นประเทศเกาะที่แยกต่างหากจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน ทำให้ในเบื้องลึกแล้ว พวกเขามีความทะนงตนในอธิปไตยของประเทศ และไม่รู้สึกผูกพันกับประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ส่งผลให้อังกฤษยังคงใช้ปอนด์สเตอริง เป็นสกุลเงินของประเทศ ในขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินยูโร

ทางฝ่ายสหภาพยุโรปเองก็มีความกังวลใจต่อประเด็นทางด้านกฎหมายและเศรษฐกิจที่จะเป็นสาเหตุการถอนตัวของอังกฤษ จึงทำให้มีการเจรจากับนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อทำการปฏิรูปในสหภาพยุโรป โดยหวังให้อังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป เช่น มีการกำหนดเงื่อนไขเวลาขั้นต่ำสำหรับผู้อพยพจากสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้ามาในอังกฤษก่อนที่จะสามารถได้รับสวัสดิการทางสังคม

อย่างไรก็ดี ผลการเจรจาในประเด็นอื่นๆ ยังคงมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยนายคาเมรอนพยายามปกป้องผลประโยชน์ของอังกฤษ ในขณะที่ผู้นำบางส่วนของสหภาพยุโรปไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของอังกฤษเพียงประเทศเดียว

*ฝ่ายหนุนอังกฤษอยู่ร่วมสหภาพยุโรปเตือนเศรษฐกิจ, การเมืองวุ่นแน่ หากถอนตัว

สำหรับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ได้อ้างถึงปัญหาความวุ่นวายที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ที่จะเกิดขึ้นในอังกฤษ และอาจจะลุกลามออกไปในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก ซึ่งผู้ที่ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงดังกล่าว มีทั้งผู้นำของอังกฤษเอง และผู้นำของประเทศต่างๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ได้ออกมาปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษ ทันทีที่มีข่าวว่าอังกฤษตัดสินใจทำประชามติเกี่ยวกับสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป

*S&P หั่นแนวโน้มเครดิตอังกฤษสู่ "เชิงลบ" หลังเตรียมทำประชามติ

สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษ สู่ระดับ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ"

S&P ระบุว่า อังกฤษมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA อันเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนตัดสินใจที่จะจัดทำประชามติในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

"การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจทำประชามติเกี่ยวกับสมาชิกภาพของอังกฤษในสหภาพยุโรป บ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมืองมากกว่าที่ S&P ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้" แถลงการณ์ระบุ

*ผู้เชี่ยวชาญเตือนปอนด์ทรุด, หุ้นดิ่ง, เศรษฐกิจอังกฤษ,ยูโรโซนซบจากพิษ Brexit

นายรามิน นาคิซา นักวิเคราะห์จากยูบีเอส ระบุว่า Brexit จะทำให้สกุลเงินสำคัญของโลกเกิดความผันผวน และส่งผลต่อการขยายตัวของอังกฤษ ซึ่งจะกระทบจีดีพีราว 2% ในระยะยาว

นอกจากนี้ เขายังเตือนว่าปอนด์จะทรุดตัวลงจนมีค่าเท่ากับยูโร ขณะที่ยูโร และเศรษฐกิจยุโรปก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ส่วนนายไมค์ อามีย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทพิมโค ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนพันธบัตรยักษ์ใหญ่ของโลก เตือนว่า ปอนด์จะดิ่งลงถึง 10% เมื่อเทียบดอลลาร์ หากอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU หลังจากที่ได้ร่วงลงกว่า 5% แล้วในปีนี้ แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี จากความกังวลดังกล่าว

ทางด้านเอชเอสบีซีเตือนว่าปอนด์จะทรุดตัวลงถึง 20% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนที่จะดิ่งลงจนแตะระดับเดียวกันกับยูโร ขณะที่จีดีพีของเศรษฐกิจอังกฤษจะหายไปถึง 1.5%

เอชเอสบีซีระบุว่า ถึงแม้การอ่อนค่าของปอนด์จะช่วยหนุนการส่งออกของอังกฤษ แต่ก็จะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 5% โดยจะกระทบรายได้ที่แท้จริง และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน

Brexit ยังทำให้มีความวิตกเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้มีการไหลออกของเงินทุน ขณะที่นักลงทุนตัดสินใจถอนทุนออกจากอังกฤษ

เจพีมอร์แกนคาดว่า หากอังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป ก็จะทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลง โดยหุ้นกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มสร้างบ้านจะร่วงลงอย่างหนัก

ส่วนนายคัลลูม พิคเกอริง จากวาณิชธนกิจเบเรนเบิร์ก ระบุว่า Brexit จะส่งผลกระทบไปทั่วยูโรโซน และตลาดการเงินหลายแห่ง รวมทั้งส่งผลต่อภาวะการเมืองในยุโรป

*สหราชอาณาจักร-สหภาพยุโรปเสี่ยงแตก หากผลโหวตหนุนอังกฤษถอนตัวจาก EU

ผู้นำพรรคแห่งชาติสก็อตได้ออกมาเตือนแล้วว่า หากเกิดภาวะ Brexit ขึ้น ทางพรรคก็จะผลักดันให้มีการลงประชามติเพื่อให้สก็อตแลนด์เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ การแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU จะเป็นแรงหนุนให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งมีความคิดที่จะแยกตัวเหมือนกัน อาจประกาศจัดทำประชามติถอนตัวออกจาก EU เช่นเดียวกับอังกฤษ โดยประเทศดังกล่าว ได้แก่ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ฮังการี สวีเดน เดนมาร์ก และสาธารณรัฐเช็ค

*IMF เตือนอังกฤษเศรษฐกิจล่ม หากออกจาก EU

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า หากอังกฤษถอนตัวจาก EU ก็จะเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยจะฉุดเศรษฐกิจให้ตกสู่ภาวะถดถอย

รายงานของ IMF ระบุว่า หากมีการถอนตัวจาก EU อังกฤษจะเผชิญช่วงเวลาของความไม่แน่นอนสูงอย่างยืดเยื้อยาวนาน โดยผลผลิตจะถูกกระทบ และมีการสูญเสียรายได้ระยะยาวจำนวนมาก ขณะที่ตลาดทั่วโลกมีมุมมองเชิงลบต่อการถอนตัวของอังกฤษ

"ในมุมมองของเรา ไม่มีอะไรที่เป็นแง่บวกเลย และมีแต่ผลกระทบแง่ลบ" นางลาการ์ดกล่าว พร้อมคาดการณ์ว่าจีดีพีของอังกฤษอาจลดลง 1.5-9.5% หากมีการตัดสินใจถอนตัวออกจาก EU

IMF มีกำหนดเปิดเผยรายละเอียดผลกระทบทั้งหมดที่อังกฤษจะได้รับจากการแยกตัวจาก EU ในวันที่ 16 มิ.ย. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่การทำประชามติจะเกิดขึ้น

ในทางกลับกัน IMF คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะดีดตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากยังคงสมาชิกภาพใน EU ต่อไป

*WTO เตือนเศรษฐกิจอังกฤษเสียหายหนัก หากถอนตัวจากสหภาพยุโรป

นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่า หากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สิ่งนี้ก็อาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอังกฤษเป็นมูลค่าสูงถึง 1.45 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 2.11 หมื่นล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการ WTO กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า หากอังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป อังกฤษจะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางด้านภาษีและการค้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อตกลงการค้าที่สหภาพยุโรปได้ทำร่วมกับประเทศอื่นๆ

WTO ได้ประมาณการว่า ผู้บริโภคอังกฤษอาจจะต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 9 พันล้านปอนด์ ขณะที่บริษัทส่งออกของอังกฤษจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 5.5 พันล้านปอนด์จากประเทศที่นำเข้าสินค้า

นอกจากนี้ WTO ยังเตือนรัฐบาลอังกฤษว่า หากตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป อังกฤษก็จะต้องเริ่มต้นทำการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงการค้าใหม่กับสมาชิก WTO ทั้ง 161 ประเทศ ตั้งแต่เรื่องอัตราภาษี โควตาส่งออกผลผลิตทางการเกษตร โครงการอุดหนุนเกษตรกร รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงตลาดอื่นๆ ที่สถาบันการเงินและบริษัทผู้ให้บริการในอังกฤษสามารถดำเนินการได้ในขณะนี้

*แบงก์ชาติอังกฤษเตือนเศรษฐกิจวุ่นวาย หากออกจาก EU

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุเตือนว่า หากอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU ในการลงประชามติวันที่ 23 มิ.ย. ก็จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ทำให้การว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งทำให้ค่าเงินปอนด์ และมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆทรุดตัวลง

ขณะเดียวกัน BoE ระบุว่า ผลของการลงประชามติดังกล่าวจะทำให้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจชะลอการใช้จ่าย และการลงทุน

*ขุนคลังเมืองผู้ดี เตือนเศรษฐกิจถดถอย หากถอนตัวจาก EU

นายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวเตือนว่า การออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้อังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนาน 1 ปี ขณะที่บทวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังระบุว่า การออกจาก EU จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อการขยายตัว ทำให้จีดีพีลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น 3.6% หลังจากช่วงเวลา 2 ปี และในกรณีที่รุนแรง จะทำให้จีดีพีดิ่งลง 6%

กระทรวงการคลังยังเตือนว่า Brexit จะทำให้ครัวเรือนชาวอังกฤษมีค่าใช้จ่ายราว 4,300 ปอนด์ (6,238 ดอลลาร์) ในแต่ละปี ภายในปี 2573 และจะทำให้ประเทศยากจนลงอย่างถาวร

*ผลสำรวจชี้นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ Brexit กระทบเศรษฐกิจอังกฤษ

ผลการสำรวจความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ในลอนดอนของหนังสือพิมพ์ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษส่วนใหญ่เชื่อว่าการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือ Brexit จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

ผลการสำรวจดังกล่าว ซึ่งสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในสถาบันการเงิน ธุรกิจขนาดเล็ก และสถาบันการศึกษาในลอนดอนจำนวน 600 รายพบว่า 88% ของผู้ตอบคำถามระบุว่า Brexit จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วง 5 ปีข้างหน้า และ 82% ระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคครัวเรือน

*นักวิเคราะห์เตือนสหภาพยุโรปถูกกระทบ หากสูญเสียอังกฤษ

นายมาร์ค เฟลมมิง-วิลเลียมส์ นักวิเคราะห์จากสแตรทฟอร์ โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า สหภาพยุโรปจะสูญเสียภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม หากอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการเมืองของ EU เนื่องจากจะทำให้จีดีพีหายไปถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยไอร์แลนด์และเยอรมนีจะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศส่งออกสินค้าจำนวนมากไปยังอังกฤษ

*สหรัฐก็ไม่รอด หากอังกฤษถอนตัว

สหรัฐและอังกฤษมีความสัมพันธ์กันมายาวนานด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นคู่ค้าที่ใกล้ชิด โดยในปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากเป็นอันดับ 5 คิดเป็นมูลค่า 5.635 หมื่นล้านดอลลาร์

นายเรย์มอนด์ เจมส์ นักเศรษฐศาสตร์จากสก็อตต์ บราวน์ กล่าวว่า "การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปจะไม่เป็นข่าวดีสำหรับสหรัฐแน่ แม้ว่าผลกระทบต่อการขยายตัวอาจจะไม่รุนแรงมากนัก"

*บริษัทเยอรมันจ่อลดการลงทุนในอังกฤษ หากถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ผลการสำรวจเผยให้เห็นว่า บริษัทส่วนใหญ่ของเยอรมนีเตรียมที่จะลดการลงทุนในอังกฤษ หากอังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ในการลงประชามติเดือนนี้

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมันแสดงให้เห็นว่า บริษัทเยอรมันถึง 61% ที่ทำธุรกิจอยู่ในอังกฤษเปิดเผยว่า บริษัทจะลดการลงทุน หากชาวอังกฤษโหวตสนับสนุนให้ออกจากสหภาพยุโรป

บริษัทเยอรมันถึงสี่ในห้าคาดการณ์ว่า "Brexit" จะมีผลกระทบทางลบต่อธุรกิจของตน และเกือบหนึ่งในสามเห็นว่า การถอนตัวของอังกฤษจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนของพวกเขา ซึ่งหมายความว่าอาจมีการถอนการลงทุนออกไปมากกว่า 10%

"Brexit จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง" นายคลีเมนส์ ฟิวสท์ หัวหน้าสถาบัน Ifo กล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า เยอรมนีจะกลายเป็นผู้สูญเสียรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป เนื่องจากอังกฤษเป็นตลาดส่งออกหลักของเยอรมนี

ผลการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า หากอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป จะสร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจเยอรมนีเป็นมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านยูโร (5.055 หมื่นล้านดอลลาร์) ณ สิ้นปี 2560

*สหภาพยุโรปเริ่มเจรจาฉุกเฉิน รับมืออังกฤษถอนตัว

นักการทูตและเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปได้เริ่มต้นการประชุมในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากชาวอังกฤษตัดสินใจลงประชามติสนับสนุนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายมาร์ติน เซลเมย์ ผู้ประสานงานของนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีนักการทูตของเยอรมนี, ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆเข้าร่วมในการประชุม

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปมีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 23-24 มิ.ย. แต่ได้มีการเลื่อนกำหนดการประชุมไปเป็นวันที่ 28-29 มิ.ย.แทน เพื่อที่ผู้นำของสหภาพยุโรปมีเวลา 4 วันในการเตรียมตัวรับผลการลงประชามติในอังกฤษ

ถ้าหากฝ่ายสนับสนุนการถอนตัวได้รับชัยชนะในการลงประชามติ ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ และหน่วยงานแห่งอื่นๆ ก็จะพร้อมรับมือต่อความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดการเงินในวันที่ 24 มิ.ย.

นายคาเมรอนกล่าวว่า ถ้าหากฝ่ายหนุนการแยกตัวจากสหภาพยุโรปได้รับชัยชนะ เขาก็จะดำเนินการในทันทีในการเริ่มกระบวนการตามมาตรา 50 ในสนธิสัญญาสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มการเจรจาสำหรับการถอนตัว

สนธิสัญญาดังกล่าวให้เวลาในการเจรจาเป็นเวลา 2 ปี และหลังจากนั้นอังกฤษก็จะออกจากสหภาพยุโรป นอกจากว่าสมาชิกทุกประเทศเห็นพ้องที่จะขยายเวลาออกไป

*ภาคธุรกิจเมืองผู้ดีแสดงพลังหนุนอยู่ใน EU ขณะเตือนศก.,จ้างงานถูกกระทบ หากแยกตัว

ผู้นำในภาคธุรกิจของอังกฤษจำนวน 200 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ ทำจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนการปฏิรูปสหภาพยุโรปเพื่อให้อังกฤษยังคงดำรงสมาชิกภาพใน EU ต่อไป

นอกจากนี้ พวกเขายังเตือนว่า การออกจาก EU จะกระทบต่อการจ้างงานจำนวนหลายแสนตำแหน่ง และสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษ

*โพลล์ชี้ผลประชามติสูสี แต่ฝ่ายหนุนอยู่ในสหภาพยุโรปยังเป็นต่อ

ผลการสำรวจล่าสุดของหลายสำนักบ่งชี้ว่า ผู้ที่มีสิทธิลงประชามติ และสนับสนุนให้อังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ยังคงมีจำนวนมากกว่าผู้ที่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวออกไป แต่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก และหากจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิลงประชามติอยู่ในระดับต่ำ ฝ่ายที่สนับสนุน Brexit ก็มีโอกาสคว้าชัยชนะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่แสดงความมุ่งมั่นในการลงประชามติมากกว่า

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาพลังเงียบ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนน แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะเลือกฝ่ายไหน ซึ่งหากกลุ่มนี้เทคะแนนเสียงไปยังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็อาจทำให้ฝ่ายดังกล่าวชนะการลงประชามติในครั้งนี้

*ไทยควรจับตารับมือผลกระทบตลาดโลกช็อกหลังโหวต Brexit รัฐบาลไทย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยควรจับตาผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ ซึ่งหากผลปรากฎว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบต่อการอยู่ร่วมในสหภาพยุโรปต่อไป สิ่งนี้ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดการเงินทั่วโลก แต่หากในทางกลับกัน ผู้คนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรตัดสินใจที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ก็จะทำให้ตลาดหุ้นและตลาดการเงินปั่นป่วนทั่วโลกโดยเฉพาะในวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยผลการลงประชามติบางส่วนออกมา โดยไทยควรเตรียมการรับมือผลกระทบทั้งในระยะสั้นจากภาวะช็อกในตลาด และผลกระทบในระยะยาวจากการค้า และการลงทุนในสหภาพยุโรปที่อาจชะลอตัวลง เพื่อให้การส่งออก, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ