In Focusเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" ถล่มรัฐเท็กซัส หายนะครั้งใหญ่บนกองไฟความขัดแย้งของอเมริกา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 30, 2017 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ลืมโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เมื่อครั้งที่พายุ "แคทรินา" พัดถล่มอ่าวเม็กซิโกในช่วงปลายเดือนส.ค. ปี 2548 ส่งผลให้เมืองนิวออร์ลีนส์ในรัฐลุยเซียนาได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างกว่า 233,000 ตารางกิโลเมตร หรือกินพื้นที่เทียบเท่ากับเกาะบริเตนใหญ่ทั้งเกาะ หายนะครั้งนั้นทำให้สหรัฐสูญเสียครั้งใหญ่ ทั้งชีวิตผู้คนนับพัน และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ตีเป็นวงเงินสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ พิษภัยของพายุแคทรินายังทำให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานโลกครั้งใหญ่ จนทำให้จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีในยุคนั้น ตัดสินใจระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทศาสตร์ (SPR) และสมาชิกสภาคองเกรสได้พร้อมใจกับอนุมัติเงินกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อซับน้ำตาเหยื่อแคทรินา โดยไม่ลังเล

กระทั่งเมื่อกลางเดือนส.ค.ปีนี้ ฤดูพายุเฮอร์ริเคนได้กลับมาเยือนสหรัฐอีกครั้ง คราวนี้ได้พัดพาเอาพายุโซนร้อน "ฮาร์วีย์" เข้ามาก่อตัวอย่างเงียบๆในบริเวณชายฝั่งรัฐเท็กซัสและลุยเซียนา แต่เพียงไม่กี่ค่ำคืน ฮาร์วีย์ได้กลายร่างเป็นยักษ์ที่ตื่นจากการหลับไหล ม้วนตัวขึ้นเหนือท้องฟ้ารัฐเท็กซัสและลุยเซียนา ก่อนที่จะถล่มพสุธาของ 2 รัฐอันเป็นฐานที่ตั้งอุตสาหกรรมพลังงานขนาดใหญ่ จนราบเป็นหน้ากลอง ด้วยกำลังลมรุนแรงของเฮอร์ริเคนระดับ 4 ตามมาตราวัดของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson Hurricane Scale)

เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ กลืนกินรัฐเท็กซัสและลุยเซียนาด้วยลมกรรโชกรุนแรงและฝนตกหนัก ส่งผลให้เมืองฮุสตันในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐและเป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก กลายเป็นทะเลคอนกรีตในพริบตา อิทธิพลของพายุฮาร์วีย์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาควบแน่นทางอากาศ ทำให้ฝนตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา กินพื้นที่กว้างหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่คอร์ปัสคริสตี ลามไปจนถึงเมืองฮุสตัน อีกทั้งยังทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ "สตอร์มเสิร์ช" ถาโถมชายฝั่งรัฐเท็กซัสและลุยเซียนาเป็นระลอก เราจึงได้เห็นภาพน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ประสบภัย ปริมาณน้ำที่สูงขึ้นจนแทบมิดหลังคาบ้านเรือน และภาพที่ประชาชนต้องอพยพหนีตายอย่างน่าเห็นใจ ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้ประกาศให้รัฐลุยเซียนาและเท็กซัส เป็นเขตภัยพิบัติ และเตรียมพิจารณางบประมาณเพื่อบรรเทาทุกข์

หายนะรอบนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานและธุรกิจประกันมากที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของสหรัฐระบุว่า จนถึงขณะนี้ อิทธิพลของพายุฮาร์วีย์ยังคงสร้างความเสียหายในรัฐเท็กซัสและลุยเซียนาของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน สืบเนื่องจากสหรัฐต้องระงับการกลั่นน้ำมันดิบในสองรัฐดังกล่าว คิดเป็นปริมาณ 3.6 ล้านบาร์เรล/วัน หรือเกือบ 1 ใน 5 ของปริมาณการกลั่นน้ำมันทั้งประเทศ

ผลพวงจากการที่โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งของสหรัฐได้ปิดการทำงานชั่วคราว ทำให้อุปทานน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน ที่ส่งผ่านระบบท่อส่งต่างๆ ในสหรัฐมีปริมาณลดน้อยลง นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมที่จะปิดท่อส่งน้ำมันในระบบท่อส่ง "เอ็กซ์พลอเรอร์ ไปป์ไลน์" จากรัฐเท็กซัสไปยังชิคาโกจำนวน 2 เส้น ตั้งแต่วันนี้ตามเวลาสหรัฐ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมในสองรัฐดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจทำให้สหรัฐจำเป็นต้องปิดการทำงานของโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบนซินได้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ รัฐที่ตั้งอยู่ริมอ่าวเม็กซิโก ซึ่งประกอบด้วยรัฐเท็กซัส ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี แอละแบมา และฟลอริดานั้น มีปริมาณการกลั่นน้ำมันคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ โดยที่รัฐเท็กซัสมีการกลั่นน้ำมันเฉลี่ย 5.6 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่รัฐลุยเซียนามีปริมาณการผลิตที่ 3.3 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น ผู้เชี่ยวชาญประมาณการเอาไว้กว้างๆประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจทำให้เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์กลายเป็นหายนะที่สร้างความเสียหายร้ายแรงมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2513 ขณะที่คอร์โลจิกประเมินว่า ยอดเคลมประกันภัยจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์อาจสูงถึง 1-2 พันล้านดอลลาร์

... ความระส่ำระสายที่สหรัฐกำลังเผชิญในขณะนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่คณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเจอกับศึกภายนอกและภายใน ตั้งแต่การตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อนระหว่างปธน.ทรัมป์ และคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ทำให้ตลาดหุ้นดิ่งเหวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไปจนถึงการต่อสู้กันด้านนโยบายระหว่างคณะทำงานทรัมป์และผู้นำสภาคองเกรส ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาษี กฎหมายประกันสุขภาพ และกฎหมายขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ โดยรัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะก่อนถึงสิ้นเดือนก.ย.นี้ มิเช่นนั้นอาจเกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่นักลงทุนตลาดการเงินอกสั่นขวัญหายไม่แพ้พายุเฮอร์ริเคนนั้น น่าจะเป็นวาทกรรมอันร้อนแรงของปธน.ทรัมป์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่พรั่งพรูผ่านทางทวิตเตอร์ โดยล่าสุดทรัมป์ไม่ลังเลที่จะทวีตข้อความโจมตีมิทช์ แมคคอนเนล แกนนำพรรครีพับลิกันในวุฒิ และพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ที่ล่าช้าในการผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งการอาละวาดฟาดหางนี้มีเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ทรัมป์ได้ทวีตข้อความโจมตีเกาหลีเหนือด้วยถ้อยคำที่สุดสะพรึงว่า สหรัฐจะตอบโต้ด้วยไฟอันเดือดดาลและอานุภพที่ร้ายแรงอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน หากเกาหลีเหนือยังเดินหน้ายิงขีปนาวุธ ... แต่ดูเหมือนว่าคำขู่นี้ไม่เคยกระตุ้นต่อมความกลัวของคิม จอง อึน ได้เลย เพราะล่าสุดเมื่อเช้าวานนี้ คิมได้สั่งให้กองทัพเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยกลางบินข้ามเกาะญี่ปุ่นไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศอีกเช่นเคย

.. อย่างไรก็ตาม คริสตินา ฮูเปอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์อินเวสโก มองมุมบวกว่า ผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ อาจเป็น "กาวใจ" ที่จะช่วยให้คณะทำงานของปธน.ทรัมป์และผู้นำสภาคองเกรส หันหน้าเจรจากันในเรื่องงบประมาณและการปรับเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนผู้ประสบภัยจากพายุฮาร์วีย์

.. คอลัมน์ In Focus ขอส่งกำลังใจให้ชาวอเมริกัน ผ่านบทเพลง "From the Bottom of My Heart" ที่ ไมเคิล แจ็คสัน บรรจงแต่งขึ้นเพื่อส่งความรักและความห่วงใยไปให้กับผู้ประสบภัยพายุแคทรินาเมื่อปี 2548 เช่นเดียวกับที่ซูเปอร์สตาร์ผู้ล่วงลับผู้นี้ เคยส่งความรู้สึกห่วงหาอาทรผ่านบทเพลง "We are the World" ในปี 2528 ซึ่งนำไปสู่การรณรงค์หาเงินช่วยเหลือผู้หิวโหยในแอฟริกาได้อย่างท่วมท้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ