In Focusจับตาซาอุดิอาระเบียภายใต้อำนาจมกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 8, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซาอุดิอาระเบียเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจในตะวันออกกลาง และสมาชิกรายสำคัญของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) สันนิบาตอาหรับ ตลอดจนกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ มีพรมแดนติดกับประเทศอิรัก คูเวต โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล โดยกษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลาซิส อัล ซาอุด

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย ได้แต่งตั้งให้เจ้าชาย "โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" พระราชโอรส ขึ้นดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแทนเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ พระราชนัดดา นับเป็นการส่งต่ออำนาจทางการเมืองสู่ทายาทที่เป็นพระราชโอรสครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2496

ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศภายใต้มกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน"

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบียประกาศกวาดล้างขบวนการทุจริตครั้งใหญ่ภายในประเทศ และได้แต่งตั้งให้มกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการปราบปรามทุจริตชุดใหม่นี้ ซึ่งมีอำนาจในการสั่งห้ามการเดินทางออกนอกประเทศและยึดสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายทุจริต แม้ว่าการสืบสวนจะยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม ส่งผลให้มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน มีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เคย

หลังจากการประกาศตั้งคณะกรรมการปราบปรามทุจริตชุดใหม่ขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทางคณะกรรมการนำโดยมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ได้ออกหมายจับเจ้าชายองค์อื่นๆจำนวน 11 พระองค์ และนักธุรกิจระดับสูงหลายราย รวมถึงรัฐมนตรี รองรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี รวมทั้งหมดอย่างน้อย 38 ราย ส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่า มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน อาจจะทรงอาศัยโอกาสนี้ในการเคลียร์เส้นทางของตนเองก่อนขึ้นสู่อำนาจในฐานะกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย

บุคคลสำคัญที่ถูกออกหมายจับ ได้แก่ เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ทวิตเตอร์ ไทม์วอร์เนอร์ และ ทเวนตี้ เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และเจ้าชายมีเต็บ บิน อับดุลลาห์ ผู้ซึ่งเคยได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สืบราชวงศ์อีกพระองค์หนึ่ง เนื่องจากเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ กษัตริย์องค์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นพระเชษฐาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

การยึดอำนาจจากผู้ทรงอิทธิพลหลายรายโดยมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ส่งผลให้พระองค์สามารถแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปยังภาคส่วนต่างๆได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแวดวงธุรกิจ การเงิน ไปจนถึงด้านความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุม ได้แก่ เจ้าชายมีเต็บ บิน อับดุลลาห์ ทรงเป็นรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ แต่ถูกปลดจากตำแหน่งในเวลาต่อมาภายหลังการจับกุม ทำให้มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ผู้ที่ปัจจุบันตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถเข้าควบคุม 3 หน่วยงานหลักด้านความมั่นคงได้ในที่สุด ทั้งกองกำลังทหาร กองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และกองกำลังพิทักษ์ชาติ

ชาส ดับเบิลยู ฟรีแมน อดีตนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลภายใต้กระบวนการ “ปราบปรามการทุจริต" ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการ “ปฏิวัติอำนาจเก่า" ซึ่งส่งผลให้อำนาจทั้งหมดมารวมอยู่ในมือของมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน แต่เพียงผู้เดียว

นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ยังทรงมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่แตกต่างไปจากผู้นำที่ผ่านมา พระองค์ทรงต้องการให้ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามในแบบที่เป็นกลางมากขึ้น กล่าวคือไม่เคร่งครัดหรือหละหลวมจนมากเกินไป จากเดิมที่ผู้นำศาสนาและสมาชิกในราชวงศ์ต่างปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ตามหลักการวะห์ฮะบีของศาสนาอิสลามนิกายซุนนี

พระองค์ทรงตรัสว่า “เราจะทำให้ซาอุดิอาระเบียหวนคืนสู่อิสลามสายกลางที่เปิดกว้างต่อชาวโลกและทุกศาสนา กว่า 70% ของชาวซาอุฯล้วนแล้วแต่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และเราจะไม่ใช้เวลา 30 ปีนี้ให้สิ้นเปลืองกับไปกับแนวความคิดสุดโต่ง เราจะทำลายให้หมดไปในตอนนี้" คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการนำพาประเทศสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบียจึงเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับศาสนาลงบ้าง เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้เริ่มตั้งแต่กลางปีหน้า และการจ้างแรงงานที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ไปจนถึงการที่รัฐบาลเริ่มหันมาลงทุนในธุรกิจบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนเสิร์ตหรือโรงภาพยนตร์ ซึ่งเดิมถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในศาสนาอิสลาม

นอกจากประเด็นด้านศาสนาและการเมืองแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกที่ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าหลัก ซึ่งมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงมองว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน และต้องการหาทางที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันลง

พระองค์ทรงเสนอแผนเศรษฐกิจชื่อว่า “Vision 2030" ที่ลดการพึ่งพาน้ำมันของประเทศลงและเพิ่มรายได้ที่ไม่ได้มาจากการส่งออกน้ำมันขึ้น 6 แสนล้านริยาลภายในปี 2563 และเพิ่มขึ้นไปอีกที่ 1 ล้านล้านริยาลภายในปี 2573 จากเดิมที่ 1.64 แสนล้านริยาลในปี 2558

นอกจากนี้ พระองค์ยังต้องการที่จะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทน้ำมัน ซาอุดิอารัมโค บางส่วนให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันในตะวันออกกลาง และแน่นอนว่า จะต้องส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

ความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้มกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน"

หลังได้รับการแต่ตั้ง มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม ได้นำกองทัพซาอุดิอาระเบียเข้าต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มกบฏฮูตีที่ลุกขึ้นต่อต้านประธานาธิบดีเยเมนในช่วงนั้น เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ประเทศขั้วตรงข้ามของซาอุดิอาระเบีย

สงครามเยเมนได้ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ หลังกลุ่มกบฏฮูตีสามารถขับไล่รัฐบาลเยเมนได้สำเร็จ ส่งผลให้เยเมนกลายเป็นประเทศฝั่งตรงข้ามกับซาอุดิอาระเบีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เยเมนซึ่งถูกปกครองโดยกลุ่มฮูตีได้ยิงขีปนาวุธมุ่งหวังโจมตีสนามบินของซาอุดิอาระเบีย แต่ขีปนาวุธดังกล่าวถูกยิงสกัดไว้ได้ ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเชื่อว่า การโจมตีครั้งนี้ได้รับคำสั่งมาจากอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สามารถยิงสกัดขีปนาวุธได้เพียงไม่นาน กองทัพซาอุดิอาระเบียภายใต้การนำของมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้เข้าโจมตีทางอากาศกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนอย่างหนักหน่วง พร้อมประณามอิหร่านว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดสงคราม

ล่าสุด กลุ่มฮูตีได้ออกมาประกาศว่า เยเมนยินดีให้เหล่าเจ้าชายของซาอุฯรวมถึงบุคคลระดับสูงที่ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เข้ามาลี้ภัยทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เยเมนต้องการอาศัยความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในซาอุดิอาระเบีย เพื่อรวบรวมกำลังสนับสนุนให้ได้มากที่สุด

“พวกเรายินดีต้อนรับสมาชิกราชวงศ์และชาวซาอุฯทุกคนที่ต้องการหนีจากการถูกกดขี่และการลงโทษ" กลุ่มฮูตีกล่าว

นอกจากความขัดแย้งกับเยเมนและอิหร่านแล้ว ซาอุดิอาระเบียยังมีความขัดแย้งกับกาตาร์อีกด้วย โดยซาอุดิอาระเบียได้กล่าวหากาตาร์ว่าเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จึงเป็นหัวหอกในการประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ พร้อมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอิยิปต์ในเดือนมิ.ย. 2560

อย่างไรก็ตาม สหรัฐภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับซาอุดิอาระเบีย ได้แสดงความพร้อมในการเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกาตาร์และ 4 ชาติอาหรับ หลังจากก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ลงนามในสัญญาขายเครื่องบินรบจำนวนกว่า 36 ลำ มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่กาตาร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย

เป็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกซาอุดิอาระเบียจะดำเนินต่อไปอย่างไรในระหว่างที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสืบทอดบัลลังก์จะดำเนินไปโดยมีอุปสรรคจากบุคคลใกล้ชิดและบุคคลที่ถูกจับกุมตัวไปเข้ามาขัดขวางหรือไม่ และบุคคลเหล่านี้จะเข้าร่วมกับฝั่งตรงข้ามหรือไม่ อนาคตด้านเศรษฐกิจ ศาสนา สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวมุสลิมภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเดินหน้าไปในทิศทางใด คงจะต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ