In Focusเก็บตกสถานการณ์ “ชัตดาวน์" ในสหรัฐ กับความขัดแย้งของสองพรรคที่ยังไม่สิ้นสุดลง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 24, 2018 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐเผชิญความโกลาหลที่เรียกว่า “ชัตดาวน์" นั่นคือการปิดหน่วยงานของรัฐบาล เนื่องจากสภาคองเกรสคว้าน้ำเหลวในการรับรองงบประมาณชั่วคราวให้ทันเส้นตายเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 19 มกราคม ซึ่งส่งผลให้พนักงานรัฐราว 850,000 คนถูกสั่งให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แม้ในเวลาต่อมาสถานการณ์ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี หลังจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรพร้อมใจไฟเขียวงบประมาณชั่วคราวเมื่อวันจันทร์ และปิดฉากสุญญากาศงบประมาณลงได้ภายใน 3 วัน แต่เหตุการณ์แค่เพียงช่วงสั้นๆนี้ ก็สะท้อนหลายๆอย่างได้เป็นอย่างดี

In Focus ในวันนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังชัตดาวน์ครั้งล่าสุด และปมความขัดแย้งระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลง

*ทำความรู้จัก “ชัตดาวน์"

ภาวะชัตดาวน์อยู่คู่กับการเมืองสหรัฐมาหลายยุคหลายสมัย ความหมายของการชัตดาวน์คือการปิดหน่วยงานรัฐบาลบางส่วน ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณ ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐไม่สามารถลงนามรับรองงบประมาณได้ทันเส้นตาย

สำหรับการชัตดาวน์ครั้งล่าสุดนี้ เกิดจากวุฒิสภาสหรัฐไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เพียงพอที่จะผลักดันร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวให้ผ่านความเห็นชอบได้ทันเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 19 มกราคม ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติงบประมาณชั่วคราวดังกล่าวเมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า จึงทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์ในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม ซึ่งตรงกับครบรอบหนึ่งปีการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์

แม้ว่าพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล จะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่ก็เป็นการครองเสียงข้างมากแบบฉิวเฉียด 51 ที่นั่ง จาก 100 ที่นั่ง ในขณะที่การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับเสียงสนับสนุนขั้นต่ำ 60 เสียง

ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์เดโมแครตว่าเป็นสาเหตุให้สหรัฐต้องเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์ในครั้งนี้

ขณะที่ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความโจมตีพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ว่าเป็นต้นเหตุของการชัตดาวน์ หลังจากที่นายทรัมป์ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องทำงานรูปไข่เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลงกับนายชูเมอร์ แต่ไม่สำเร็จ

การชัตดาวน์ครั้งนี้ส่งผลให้หน่วยงานรัฐของสหรัฐให้บริการได้เฉพาะบริการด้านฉุกเฉินและกองทัพเท่านั้น ในขณะที่ปฏิบัติการด้านอื่นๆอาจจะต้องระงับการให้บริการ เช่น การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสวนสาธารณะ โดยอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในมหานครนิวยอร์ก ก็ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ปิดดำเนินการในระหว่างการชัตดาวน์ครั้งนี้

การชัตดาวน์ครั้งนี้นับเป็นเป็นครั้งที่สี่ในรอบ 25 ปี ส่วนครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งครั้งนั้นได้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาลเป็นเวลา 17 วัน อันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสองพรรคเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือที่เรียกกันว่าโอบามาแคร์

ภาวะงบประมาณขาดช่วงเกิดขึ้นในสหรัฐรวม 19 ครั้ง แต่มี 8 ครั้งที่มีการปิดหน่วยงานรัฐ โดยก่อนหน้าปี 2533 ภาวะงบประมาณขาดช่วงในสหรัฐไม่ส่งผลให้เกิดการปิดหน่วยงานรัฐบาลเสมอไป แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดหลักปฏิบัติในการปิดหน่วยงานรัฐบาลเมื่องบประมาณขาดช่วง

*DACA ปมความขัดแย้งรีพับลิกัน-เดโมแครต

หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว เขาพยายามอย่างหนักที่จะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียง โดยอาศัยนโยบาย “American First" อเมริกาต้องมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก การกดดันจีนให้ลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีน การนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และล่าสุดกับมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทรัมป์ลงนามรับรองในวันอังคารที่ 23 มกราคม และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

คณะบริหารของทรัมป์ยังเดินหน้ามาตรการคุมเข้มผู้ลี้ภัย อาทิ การแบนพลเมืองจากประเทศมุสลิมบางแห่งในการเดินทางเข้าสหรัฐ แผนจำกัดการรับผู้ลี้ภัย ตลอดจนการยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐ (DACA) เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ทำให้ผู้อพยพผิดกฎหมายเสี่ยงถูกเนรเทศประมาณ 800,000 คน และนั่นเองคือที่มาของการไม่ลงรอยกันระหว่างรีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งดึงสหรัฐเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์

Deferred Action for Childhood Arrivals หรือ DACA เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในปี 2555 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิในการพักอาศัยและประกอบอาชีพชั่วคราวแก่ผู้ที่อพยพเข้ามาในสหรัฐก่อนอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ หรือที่รู้จักกันในนามของ "นักล่าฝัน" โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับสิทธิทางกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐได้ โดยต้องต่ออายุทุก 2 ปี

สืบเนื่องจากการยกเลิกนโยบายนี้ สมาชิกพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาได้นำกรณีนี้มาใช้เป็นข้อต่อรอง โดยเสนอให้ร่างกฎหมายงบประมาณพ่วงการต่ออายุโครงการ DACA เข้าไปด้วย จึงจะยอมลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรีพับลิกันไม่เห็นด้วย วุฒิสภาจึงไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เพียงพอที่จะผลักดันงบประมาณชั่วคราวภายในเส้นตายเที่ยงคืนวันที่ 19 มกราคม จนเป็นสาเหตุให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์เมื่อเข้าสู่วันใหม่

อย่างไรก็ดี ภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อเข้าสู่วันที่ 3 หลังจากสองสภาลงมติรับรองกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้อย่างผ่านฉลุยในวันที่ 22 มกราคม เนื่องจากมีสัญญาณประนีประนอมเกี่ยวกับ DACA จากพรรครีพับลิกัน

ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น 81 ต่อ 18 เสียง ให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ก่อนที่จะส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพื่อการพิจารณาต่อไป ซึ่งในเวลาต่อมา สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐก็มีมติด้วยคะแนนเสียง 266 ต่อ 150 เสียง ให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉบับดังกล่าว

การลงนามบังคับใช้กฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้ จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณในการบริหารประเทศจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ การที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอย่างท่วมท้นในครั้งนี้ เนื่องจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากที่ได้คัดค้านร่างงบประมาณดังกล่าวในการลงมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้หันกลับมาให้ความเห็นชอบ หลังจากที่นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา เห็นพ้องที่จะมีการอภิปรายร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้เดินหน้าเจรจาในประเด็นผู้อพยพอีกครั้ง หลังจากมีสัญญาณว่าวุฒิสภาสหรัฐจะลงมติเห็นชอบกฎหมายงบประมาณฉบับนี้

*ชนวนชัตดาวน์รอบใหม่ที่รอการปะทุ

แม้โครงการ DACA มีโอกาสได้ไปต่อ หลังจากแกนนำวุฒิสมาชิกรีพับลิกันส่งสัญญาณยอมเจรจาประเด็นโครงการ DACA ก่อนเส้นตายงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุด แต่ยังไม่มีอะไรที่บ่งบอกได้ว่า การต่ออายุโครงการ DACA จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การชัตดาวน์ครั้งใหม่ได้

นายไบรอัน ฟอลลอน อดีตโฆษกของนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีอะไรรับประกันว่า นายแมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาจะทำตามสัญญาเกี่ยวกับการอภิปรายร่างกฎหมายผู้อพยพ และถึงแม้เขาจะทำตามสัญญา ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะยอมทำตาม

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ก็ยังไม่มีท่าทีบ่งชี้ว่าจะยอมประนีประนอมในประเด็นนี้

เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้วที่งบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลง จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า อนาคตของเยาวชนในโครงการ DACA หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐ รวมถึงความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองทั้งสองจะลงเอยไปในทิศทางใด...


แท็ก In Focus:   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ