In Focusพรรคการเมืองใดจะอยู่หรือจะไปในศึกเลือกตั้งอิตาลี 4 มี.ค.นี้

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 1, 2018 09:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชาวอิตาลีจะได้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาใหม่ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ ขณะที่กระแสคาดการณ์ล่าสุด บ่งชี้ว่า จะไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถกวาดคะแนนเสียงได้แบบเบ็ดเสร็จ แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเป็นคำตอบในท้ายที่สุด ชื่อของ "ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี" อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์และคอนเน็คชั่นทางการเมืองทำให้แบร์ลุสโคนีเป็นตัวเก็งคนสำคัญ อย่างไรก็ดี บรรดานักการเมืองที่มีโอกาสชิงตำแหน่งนายกฯอิตาลีไม่ได้มีเพียงอดีตนายกฯผู้นี้เพียงคนเดียว

In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอนักการเมืองจากพรรคต่างๆที่มีแนวโน้มว่า จะได้เป็นทั้งแกนนำและมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ ซึ่งมี 6 คนด้วยกัน

"ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี" อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีผู้อื้อฉาว

แบร์ลุสโคนี ผู้ที่แม้ว่าวัยจะล่วงเลยมาถึง 81 ปี แถมยังพ่วงด้วยประวัติอื้อฉาวทั้งเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศและข้อหาฉ้อโกงภาษี ทั้งที่เคยเป็นนายกฯมาแล้วถึง 3 สมัย ก็ยังไม่วายอยากหวนคืนสู่เวทีการเมืองที่เรื่องของอำนาจไม่เข้าใครออกใคร อดีตนายกฯผู้นี้เป็นหัวหน้าพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ที่ยังคงมีบทบาทในการดึงคะแนนเสียง และกระแสคาดการณ์ก็เทคะแนนไปในทิศทางที่ว่า แบร์ลุสโคนี อาจจะกวาดคะแนนเสียงได้มากกว่าพรรคของมัตเตโอ เรนซี จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมในที่สุด

ฟอร์ซา อิตาเลีย เป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมที่มีหัวหน้าพรรคอย่างแบร์ลุสโคนี ซึ่งมีแต้มต่อทางการเมืองสูง แม้ว่านายแบร์ลุสโคนี จะไม่สามารถทำหน้าที่นายกฯได้ ด้วยคำสั่งแบนเป็นเวลา 6 ปีจากข้อหาการฉ้อโกงภาษี อย่างไรก็ดี อดีตนายกฯผู้นี้กำลังหาทางดิ้นรนกลับสู่อำนาจด้วยการยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามเล่นการเมือง

"มัตเตโอ เรนซี" อดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด

นายมัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี และหัวหน้าพรรค "เดโมเครติก พาร์ตี้" หรือพีดี เป็นอีกหนึ่งในตัวเก็งที่คาดว่า จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้มากที่สุดจนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

เรนซี ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯเมื่อปี 2559 เนื่องจากการลงประชามติเรื่องการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญของเรนซีไม่ได้รับเสียงตอบรับจากชาวอิตาลี

ในสมัยที่เรนซีสามารถฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น เรนซีพยายามที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจ แต่ก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อปี 2557 เรนซีเคยออกกฎหมายแรงงานที่เปิดทางให้บริษัทสามารถไล่พนักงานออกได้โดยสะดวก และยังกรุยทางให้กับการทำสัญญาแบบถาวรเพื่อปกป้องพนักงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ 2 ทาง ทั้งเสียงชื่นชมที่เรนซีสามารถทำให้อัตราว่างงานของประเทศกลับมาอยู่เหนือค่าเฉลี่ยของยูโรโซนได้ แต่ฝั่งเสียงค้านก็มองว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดการจ้างงานชั่วคราวและไม่มั่นคง

"ลุยจิ ดิไมโอ" หัวหน้าพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์

ลุยจิ ดิไมโอ เป็นนักการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกฯอิตาลี และยังเป็นหัวหน้าพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์ (Five Star Movement หรือ M5S) ที่มีจุดยืนในการชูนโยบายประชานิยมและกระแส Anti-establishment แม้ว่าพรรค M5S จะเป็นพรรคการเมืองดาวรุ่ง แต่พรรคก็ยังเปิดใจพร้อมร่วมรัฐบาล หากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวได้

ที่ผ่านมา พรรค M5S เองก็เป็นอีกพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องผู้อพยพ ลุยจิ เปรียบเปรยการช่วยเหลือผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาทางทะเลว่าเหมือนกับบริการเรือแท็กซี่ที่ต้องยุติลงได้แล้ว

ส่วนนโยบายด้านอื่นๆที่หัวหน้าพรรคนักการเมืองรุ่นใหม่รายนี้มองว่า อยากจะจัดการหากได้เป็นรัฐบาลก็คือ การยกเลิกกฎหมายเก่าๆถึง 400 ฉบับ รวมทั้งการสร้างระบบจัดเก็บภาษีที่มีความซับซ้อนน้อยลง

"เอ็มมา โบนิโน" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าพรรคพิว ยูโรปา

เอ็มมา ยังคงเป็นที่จับตา ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองกว่า 40 ปี และเป็นหนึ่งในนักการเมืองหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในแวดวงการเมืองอิตาลี

"จอร์เจีย เมโลนี" หัวหน้าพรรคฟราเตลลี ดิตาเลีย

เมโลนี เคยรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนในสมัยรัฐบาลแบร์ลุสโคนี และยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นหนึ่งในรัฐบาลผสมด้วยเช่นกัน

"มัตเตโอ ซาลวินี" หัวหน้าพรรคลีกา นอร์ด

ซาลวินี เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยม และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคของนายแบร์ลุสโคนีมาแล้วเช่นกัน

ภารกิจและความท้าทายที่ต้องเผชิญของรัฐบาลชุดใหม่

ประเด็นผู้อพยพเข้าประเทศเป็นเรื่องที่สร้างความปวดหัวในแง่ของการบริหารจัดการระหว่างการช่วยเหลือในเรื่องมนุษยธรรม ทำเลที่ตั้งของประเทศอิตาลีในฐานะหน้าด่านหรือประตูรับกลุ่มผู้อพยพที่ออกเดินทางเพื่ออนาคตจากแอฟริกามาตามเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ อิตาลีก็เป็นอีกประเทศที่เป็นห่วงสถานการณ์ของผู้อพยพเข้าประเทศ ทั้งในเรื่องจำนวนของผู้อพยพกลุ่มใหม่และกลุ่มที่มีอยู่เดิมที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้ว มีผู้อพยพที่เดินทางเข้ามายังอิตาลี 119,310 ราย ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ปี 2559 อิตาลีเคยต้องรับมือกับผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศถึง 181,436 ราย ตัวเลขเหล่านี้คงจะสะท้อนให้เห็นถึงภาพสถานการณ์ที่สร้างความกังวลและความท้าทายให้กับว่าที่รัฐบาลชุดใหม่

การปฏิรูปเศรษฐกิจ และปัญหาความยากจน

แม้ว่าเศรษฐกิจของอิตาลีจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้อย่างช้าๆ แต่ภาคธุรกิจเองก็ยังคงกังวลกับสถานการณ์ในประเทศ ผลผลิตโดยรวมทางเศรษฐกิจของอิตาลีนั้น อยู่ที่ระดับเกือบ 6% เนื่องจากความสามารถในการผลิตของอิตาลีอยู่ที่ระดับต่ำสุดประเทศหนึ่งในยุโรป เหล่านักเศรษฐศาสตร์มองว่า ภาวะอ่อนตัวดังกล่าวเกิดจากการขาดแคลนสินเชื่อ รวมทั้งการฝึกอบรมในกลุ่มบริษัทเอกชนที่ไม่เหมาะสม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเองก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเท่าไรนัก

จีดีพีต่อชั่วโมงการทำงานของอิตาลีนั้น อยู่ต่ำกว่าเยอรมนีและฝรั่งเศสถึง 25% และตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ช่องว่างของความสามารถในการผลิตของอิตาลีและประเทศรายใหญ่ๆในยูโรโซนก็ขยายตัวออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

นโยบายการจัดเก็บภาษีเป็นประเด็นที่แทบจะทุกพรรคนำมาหาเสียง นายแบร์ลุสโคนีได้หาเสียงไว้ว่า พรรคจะนำนโยบายการจัดเก็บภาษีแบบ Flat tax โดยจัดเก็บภาษีขั้นต่ำที่ 23% ก่อนที่จะดึงลงมาให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% ส่วนนายเรนซีได้ชูนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 9-10 ยูโรต่อชั่วโมง ซึ่งนโยบายนี้จะส่งผลต่อแรงงานของอิตาลีประมาณ 15%

การเมืองอิตาลีจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด พรรคการเมืองหน้าเก่าหรือหน้าใหม่จะได้จัดตั้งรัฐบาล รอลุ้นกันได้ในศึกเลือกตั้ง 4 ม.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ