Media Talk: “สมาคมโฆษณาดิจิทัล", “เฟซบุ๊ก" และ “ไป่ตู้" ร่วมแชร์เทรนด์ฮ็อตและเคล็ดลับการตลาดดิจิทัลประจำปี 2559

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2016 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 กูรูแห่งวงการสื่อดิจิทัลเผยเทรนด์และเคล็ดลับในการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จผ่านงานสัมมนาเรื่องการตลาดออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ชี้ 3 เทรนด์แรงปีนี้ ได้แก่ Content Marketing, 360 Experience, Live Video Streaming

โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าในวงการสื่อดิจิทัล ที่ร่วมแบ่งปันเทรนด์และเคล็ดลับในการทำการตลาดดิจิทัล ได้แก่ คุณศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) คุณทวีภัทร์ โอภารัตน์ ผู้จัดการบัญชีกลุ่มเอสเอ็มบีประเทศไทย เฟซบุ๊ก ประเทศไทย และคุณชฎากร ธนสุวรรณเกษม ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส ไป่ตู้ ประเทศไทย

*3 เทรนด์การตลาดร้อนแรงแห่งยุคดิจิทัล

ในภาพรวมนั้นภาคธุรกิจนิยมใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อโฆษณาดิจิทัลมากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการทำโฆษณาผ่านแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ ส่วนอันดับสามได้แก่ยูทูป โดยเฟซบุ๊กและยูทูปซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียทั้งคู่นั้นมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ที่ทรงตัวและเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงขาลง คุณศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล กล่าว

สำหรับเทรนด์การตลาดดิจิทัลที่กำลังมาแรงในปีนี้ คุณศุภชัยมองว่า อย่างแรกได้แก่การตลาดคอนเทนต์ (Content Marketing) ซึ่งเรียกได้ว่าร้อนแรงเป็นอย่างยิ่ง โดยคอนเทนต์ที่ดีนั้นไม่ใช่คอนเทนต์ที่สามารถเรียกยอดคลิกเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้เพียงอย่างเดียว แต่คอนเทนต์ที่ดีจำเป็นต้องทำให้ผู้รับชมรู้สึกจดจำ กลับมารับชมอีกครั้ง จนกลายเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

เคล็ดลับหนึ่งในการทำคอนเทนต์ที่ดีนั้นได้แก่ การใช้แฮชแท็ก (#) ซึ่งเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีตามสื่อโซเชียลมีเดีย นักการตลาดต้องพยายามทำให้คนรู้ว่าต้องใช้ # อะไร ให้คนจดจำและใช้ให้เหมือนกัน การใช้แฮชแท็กก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาได้ โดยคุณศุภชัยได้ยกตัวอย่างของเครื่องสำอางยี่ห้อ NYX ที่ใช้ประโยชน์จากการใช้ # ด้วยการดึงรูปภาพบนโซเชียลมีเดียของผู้บริโภคจริงที่ใช้เครื่องสำอาง NYX พร้อมติดแฮชแท็ก #NYXCOSMETICS เพื่อขึ้นแสดงบนหน้าแรกของเว็บไซต์ nyxcosmetics.com สิ่งนี้ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ (Authenticity) และการมีส่วนร่วม เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่นั้นไม่ค่อยเชื่อโฆษณากันแล้ว แต่หันมาเชื่อคำบอกต่อจากผู้บริโภคด้วยกันแทน

เทรนด์ที่สองที่กำลังมาแรง ได้แก่ 360 Experience ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) คุณศุภชัยได้ยกตัวอย่างถึงแคมเปญ Discover Thainess ของรัฐบาลไทยที่ได้ถ่ายภาพชายหาดกระบี่แบบ 360 องศา (https://www.vroptimal.com/view/20) ซึ่งในภาพดังกล่าวผู้รับชมสามารถใช้เมาส์เลื่อนไปทางซ้าย-ขวา-หน้า-หลังได้เหมือนยืนอยู่จุดนั้นจริงๆ โดยภาคธุรกิจอื่นๆก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้ เช่น การทำ 360 Experience ในสถานที่ของตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถทำ 360 Experience ในรูปแบบวิดีโอได้เช่นกัน

ส่วนเทรนด์ที่สาม ได้แก่ การทำ Live Video Streaming ถ่ายทอดสถานการณ์แบบสดๆ ณ เวลาจริง ที่แม้ไม่ได้อยู่ในวงการทีวีก็สามารถทำได้ เทรนด์นี้เพิ่งปรากฎให้เห็นอย่างแพร่หลายในปีนี้บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถทำ Live Video ได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับภาคธุรกิจแล้ว Live ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และยิ่งมีส่วนร่วมแบบเรียลไทม์แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

คุณศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงนั้น นักการตลาดจำเป็นต้องรู้ทันเกมธุรกิจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ซื้อไม่ได้ การใช้สื่อดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคอนเทนต์ที่นำเสนอนั้น ควรค่าแก่การบอกต่อ

*ผู้บริหาร "เฟซบุ๊ก" ชี้ยอดไลค์-เมนต์-แชร์ เป็นเพียงเรื่องรอง

คุณทวีภัทร์ โอภารัตน์ ผู้จัดการบัญชีกลุ่มเอสเอ็มบีแห่งเฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า รายได้หลักของเฟซบุ๊กนั้นมาจากการขายโฆษณา โดยทุกวันนี้เฟซบุ๊กมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคที่แต่ก่อนนิยมดูโฆษณาทางโทรทัศน์นั้น ปัจจุบันได้หันมาดูโฆษณาผ่านทางสื่อดิจิทัลบนมือถือ เช่น เฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีคนไทยเล่นเฟซบุ๊กอยู่ประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เล่นเฟซบุ๊กผ่านมือถือถึง 36 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเห็นสินค้า ค้นหา และซื้อสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก

ผู้ที่ต้องการทำการตลาดบนเฟซบุ๊กนั้น ไม่ควรมองแค่ยอดไลค์ คอมเมนต์ และยอดแชร์เยอะๆเป็นหลัก แต่ควรไล่เรียงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่การตั้งเป้าหมายธุรกิจ เล่าจุดขายให้โดน และใช้สื่อให้ถูกที่ถูกเวลา เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริงและยั่งยืน" คุณทวีภัทร์ แนะนำ

คุณทวีภัทร์ กล่าวว่า แม้เฟซบุ๊กจะเปิดพื้นที่ให้สามารถทำการตลาดได้ฟรี แต่จริงๆแล้วคอนเทนต์ที่จะเรียกความสนใจจากผู้ชมได้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุน ทั้งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเม็ดเงิน เช่น การนำภาพมาเรียงกันเป็นพาโนราม่า การทำ Cinematograph การทำวิดีโอ 360 องศา หรือแม้แต่การโฆษณาบนเฟซบุ๊กโดยใช้ทั้งภาพและวิดีโอประกอบกัน

ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ ได้แก่ แคมเปญโฆษณาของ Turkish Airlines ที่ทำการตลาดโปรโมทเส้นทางบินไปยังเมืองก๊อตแธม เมืองในภาพยนตร์เรื่องแบทแมน โดยนอกเหนือจากตัวคอนเทนต์เองนั้นที่น่าสนใจอยู่แล้ว ทางสายการบินยังได้ทำโฆษณาโปรโมชั่นดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก ด้วยภาพ วิดีโอ และลิงค์เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์เพื่อจองตั๋ว เว็บไซต์ที่ว่านี้ยังมีไกด์ท่องเที่ยวเมืองก๊อตแธมด้วย ส่งผลให้โฆษณานี้ได้รับการบอกต่ออย่างกว้างขวาง

ต่อมาต้องรู้จักใช้สื่อให้ถูกที่ถูกเวลา การหากลุ่มลูกค้านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการที่ว่ายิ่งเยอะยิ่งดี แต่ขึ้นอยู่กับหลักการที่ว่ายิ่งแม่นยิ่งดี เพราะหากมุ่งแต่จะเอากลุ่มลูกค้าให้เยอะที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้ว ก็อาจจะต้องเสียเงินมากโดยใช่เหตุเมื่อเทียบกับผลตอบรับที่กลับมา โดยอาจลองหากลุ่มลูกค้าโดยใช้อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ และค่อยๆขยายกลุ่มเป้าหมายจากข้อมูลเดิม

*ผู้บริหารจาก “ไป่ตู้" เผยกลเม็ดคว้าใจลูกค้าชาวจีน

ถ้าเราต้องการรู้เคล็ดลับในการตีตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ชาวจีนแล้ว ก็คงไม่มีใครที่เหมาะสมไปกว่าสุดยอดเสิร์ช เอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีนอย่าง"ไป่ตู้" คุณชฎากร ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส ไป่ตู้ ประเทศไทย ได้บรรยายในหัวข้อ Unleash The MICE business potential of China เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการทำธุรกิจและการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่ม MICE ในประเทศจีน

ประเทศจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ ในขณะที่ชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศก็มีจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมจีนจึงเป็นตลาดที่บรรดาผู้ประกอบการจากนานาชาติต่างให้ความสนใจ โดยประเทศไทยเองก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ก็มีนักท่องเที่ยวหลายประเภท หลายระดับ และมีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นเคล็ดลับในการชนะใจนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มเป้าหมายจึงต้องมีความพิเศษ

I Know – I LIKE – I GO สามหัวใจในการตีตลาดนักท่องเที่ยวจีน

I KNOW หมายถึงการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจในตัวนักท่องเที่ยวว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายของเราเป็นอย่างไร ต้องการอะไร มีพฤติกรรมและวิถีชีวิตอย่างไร เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนมีความแตกต่างไปจากนักท่องเที่ยวจากชาติอื่น ๆ ทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต อีกทั้งชาวจีนแผ่นดินใหญ่เองก็แตกต่างไปจากชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไต้หวันและฮ่องกง การทำการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าชาวจีนก็ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากการเข้าถึงลูกค้าที่มาจากประเทศอื่น ๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ชาวจีนไม่เล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป พันทิป ไม่ใช้เว็บไซต์อะโกดา ไม่นิยมการติดต่อผ่านอีเมลและไม่พูดภาษาอังกฤษ ถ้าหากต้องการจะติดต่อกับชาวจีน การใช้แอป วีแชท น่าจะเป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกที่สุด

I LIKE หรือการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งอาจจะต้องแลกมาด้วยการเปลี่ยนแปลงในตัวแบรนด์หรือสินค้าเล็กน้อย แต่ก็ต้องรักษาสมดุลระหว่างความเป็นเอกลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าให้ดีด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คุกกี้โอริโอที่วางจำหน่ายในประเทศจีน จะมีส่วนที่เป็นครีมบางกว่าโอริโอ้ที่วางจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากไม่นิยมบริโภคของหวาน หรือไม่ชอบรสหวาน

นอกจากการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าแล้ว อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการตั้งชื่อแบรนด์เป็นภาษาจีน เพราะสิ่งสำคัญในการตั้งชื่อจีนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การถอดคำให้มีเสียงใกล้เคียงกับแบรนด์เท่านั้น แต่จะต้องมีความหมายที่ดีด้วย ซึ่งในส่วนนี้คุณชฎากรได้แนะนำให้ผู้ประกอบการปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ในการตั้งชื่อจะดีที่สุด

I GO หรือการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดลูกค้าบนแอปแผนที่ของไป่ตู้ “ไป่ตู้แม็พ" (Baidu Map) เป็นแอปแผนที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน นอกจากชาวจีนจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเดินทางด้วยแอปดังกล่าวแล้ว แอปยังมีลูกเล่นมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า โดยผู้ประกอบการชื่อดังหลายแห่งได้ใช้ ไปตู้แม็พ ในการจัดกิจกรรมบนแผนที่ เช่น แม็คโดนัลด์บางสาขาจัดกิจกรรมว่า หากลูกค้าท่านใดเดินทางมายังร้านแม็คโดนัลด์สาขานี้ภายในระยะเวลา 5 นาที จะได้รับเฟรนช์ฟรายส์ฟรี ปัจจุบันชาวจีนยังสามารถใช้ระบบเสียงถามทางกับแอปดังกล่าวได้ สามารถซื้อตั๋วภาพยนตร์ผ่านแอปได้ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถซื้อโฆษณาในแอปได้อีกด้วย ไป่ตู้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การทำการตลาดที่เจาะไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีน จะต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างจากการทำการตลาดกับลูกค้าในประเทศอื่น ๆ

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ หน่วยงานรัฐที่ให้ความสำคัญกับการตลาด Digital MICE (Meetings, Incentives, Conferencing, Exhibitions) ได้จัดงานเปิดตัวแผนการตลาดออนไลน์ประจำปี 2559 และจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขี้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ