Media Talk: "การแพทย์แห่งยุคดิจิทัล" โอกาสใหม่ที่รอการต่อยอด

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการการแพทย์ในปัจจุบันถือว่ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีต่างๆที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มเห็นความสำคัญของระบบการทำงานผ่านระบบดิจิทัล เช่นเดียวกับองค์กรภาครัฐที่เริ่มตื่นตัวกับการวางโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆได้

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงวงการการแพทย์ของไทยแล้ว ถือว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จุดแข็งที่ว่าได้แก่การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการแพทย์ที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากแต่มีคุณภาพ ในขณะที่จุดอ่อนคือการบริการที่ยังถูกจำกัดอยู่ในเขตชุมชนเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สามารถเข้าถึงบางพื้นที่ในชนบทได้ อีกทั้งยังมีการใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ กล่าวคือไม่มีระบบฐานข้อมูลส่วนกลางสำหรับการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีองค์กรที่รับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ ประกอบกับระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม ทำให้การบริการยิ่งล่าช้าเพราะผู้ป่วยใช้บริการจากโรงพยาบาลหลายแห่ง เนื่องจากต้องมีการทำเรื่องขอประวัติคนไข้จากโรงพยาบาลล่าสุด หรือจัดทำประวัติคนไข้ใหม่ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน การจัดงานสัมมนาและจัดแสดงเทคโนโนยีการแพทย์ HIMSS AsiaPac16 Conference and Exhibition ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค. 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารในวงการการแพทย์จากประเทศต่างๆ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ยุคดิจิทัล ทั้งนี้ การศึกษาถึงรูปแบบการดำเนินงานและมุมมองของผู้บริหารในงานนี้ จึงถือว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาวงการการแพทย์ไทยได้ โดยในบทความนี้จะนำเสนอมุมมองของผู้นำด้านการแพทย์จำนวน 4 ท่านด้วยกัน

สิงคโปร์กับฐานข้อมูลผู้ป่วย

ดร. ชอง ยอก ซิน หัวหน้าประจำระบบ Integrated Health Information Systems (IHiS) จากสิงคโปร์ ผู้ซึ่งมีแนวความคิดว่า "ผู้ป่วยจะต้องอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของบริการด้านสุขภาพ" โดยดร. ชอง อธิบายว่า ประชาชนที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของสิงคโปร์หรือชาวต่างชาติก็ตาม จะมีสิทธิ์เข้าถึงบริการและความรู้ด้านสุขภาพได้จากทุกสถานที่อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากสิงคโปร์มีสถานพยาบาลที่มีคุณภาพสูงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศ และยังมีระบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยส่วนกลางและระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ โรงพยาบาลรวมถึงสถานที่ต่างๆในสิงคโปร์ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวงการการแพทย์ ตัวอย่างเช่นการใช้ระบบเซนเซอร์ระบุพิกัดและสถานที่ที่คนไข้เคยไปเยือนเพื่อติดตามพฤติกรรมและหาตัวผู้ป่วย ระบบตรวจสุขภาพที่ส่งข้อมูลเข้าสู่ส่วนกลางโดยอัตโนมัติ หรือการจัดเก็บและลำเลียงอุปกรณ์ในโรงพยาบาลด้วยหุ่นยนต์

มุมมองจากสหรัฐ
นายกัวตัม ชาฮ์ รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Vocera Communication, Inc. จากสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งมองว่าการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อระหว่างแผนกต่างๆในโรงพยาบาลถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลประกอบการให้แก่องค์กร นายชาฮ์กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในฐานะ "แพลตฟอร์มศูนย์กลาง" จะช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มที่ดีจำเป็นต้องสามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก และประมวลข้อมูลดังกล่าวโดยการคัดกรองและส่งต่อให้ฝ่ายต่างๆในโรงพยาบาล (หรือตัวผู้ป่วยเอง) เฉพาะในส่วนที่จำเป็น อีกทั้งต้องสามารถรองรับอุปกรณ์ในระบบปฏิบัติการต่างๆและอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้

ด้าน ดร. ฌอน เฟรเดริก หัวหน้าเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำ Allscripts Population Health และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลการแพทย์ ประจำโรงพยาบาลเด็กพิตต์สเบิร์ก ผู้ที่เชื่อว่าปัจจุบันนี้วงการเพื่อสุขภาพได้พัฒนามาไกลมากแล้ว ในสมัยก่อนผู้คนจะเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง แต่ในสมัยนี้การแพทย์ได้กลายมาเป็นธุรกิจที่กำลังรุกเข้าหา "ผู้บริโภค" ทั้งที่เป็นผู้ป่วยและผู้ที่มีสุขภาพปกติ ดร.ฌอนกล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีให้เป็นจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในวงการการแพทย์ได้ ตัวอย่างเช่นการสร้างแอพตรวจโรคเบาหวาน หรือบริการตรวจโรคตามความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ดร.ฌอนกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพคือการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพ เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวที่ทำให้เรารู้ว่า บริการของเราจะมุ่งไปในทิศทางใด

ประสบการณ์จากออสเตรเลีย

สำหรับท่านสุดท้ายได้แก่ ดร. สตีเฟน ชู นักสารสนเทศจาก Smart Digital Health ประเทศออสเตรเลีย ที่มองว่า ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านการแพทย์สู่ระบบดิจิทัลยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในบางองค์กรนั้นมีสาเหตุมาจากการบริหารงานแบบเก่าๆที่ไม่เข้ากับยุคสมัย ดร.ชูกล่าวว่า องค์กรบางแห่งยังคงมีแนวความคิดที่ว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากมีข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วความคิดนี้เองที่เป็นข้อจำกัดที่แท้จริงที่สกัดกั้นไม่ให้มีการพัฒนาต่อไป ดร.ชูยังกล่าวอีกว่า การที่องค์กรคิดว่าตนเองเข้าใจและมองออกในทุกประเด็นยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหาต่างๆที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องมักเกิดนอกเหนือการคาดการณ์อยู่เสมอ ทั้งนี้ ดร.ชูได้แนะนำว่า การตั้งเป้าหมายและระบุแผนการ ผลประโยชน์ และขั้นตอนการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมถึงการมองหุ้นส่วนเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้รับผิดชอบในงานที่เราได้มอบหมายไปและรอรับผิดเวลาเกิดปัญหาขึ้น จะทำให้การเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรด้านการแพทย์มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ