Media Talk: วิเคราะห์ความท้าทายของวงการดิจิทัลผ่านมุมมอง 4 กูรูชื่อดังที่งาน “DAAT DAY 2016"

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2016 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ความท้าทายของภาคธุรกิจก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวงการโฆษณาที่ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่วัน รวมถึงการตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทุกขณะ

ด้วยเหตุนี้ งาน “DAAT DAY 2016" จึงได้จัดการสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “Digital Challenge & Opportunity" เพื่อพูดคุยถึงความท้าทายและโอกาสของเอเจนซี่ไทยผ่านสายตาของ 4 กูรูชื่อดัง ประกอบด้วย ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ซีอีโอบริษัท MCFiVA และนายกสมาคม DAAT, คุณโสรดา ศรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Brilliant&Million, คุณอมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารระดับสูงด้านนวัตกรรม The Leo Burnett Group และคุณเอกชัย ปาริชาติกานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Winter Egency

*อัตราการเติบโตของการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในอนาคต

ดร.ศุภชัยให้ความเห็นว่า Innovation หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยผลักดันให้การโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลขยายตัวขึ้น อาทิ เทคโนโลยี AI, VR รวมถึงบริการใหม่ๆของบริษัท Start up ที่มักใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งคุณศุภชัยเชื่อว่า Start up จะเข้ามามีบทบาทในการรองรับลูกค้าที่ต้องการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จากการที่เหล่าเอเจนซี่ใหญ่ๆในหลายประเทศได้เริ่มเข้าไปผูกมิตรกับบริษัท Start up เพื่อร่วมมือทางธุรกิจและผลิตผลงานด้านสื่อดิจิทัล

ส่วนคุณเอกชัย มองว่า Data น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจลูกค้า เห็นได้จากการที่บริษัทต่างๆเริ่มมีความถี่ในการออกผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น เนื่องจากบริษัทกลุ่มดังกล่าวใช้การเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าอย่างเป็นระบบ และออกแบบผลิตภัณฑ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลความสนใจของลูกค้า ส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องพึ่งพาการโปรโมทแบบสื่อดิจิทัล ทำให้อัตราการเติบโตของโฆษณาปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของคุณโสรดานั้นมีความคิดเห็นตรงกับคุณเอกชัย โดยระบุว่า Data จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ธุรกิจต่างๆตัดสินใจได้ดีขึ้น นำไปสู่การวางแผนที่ชัดเจนขึ้น โดยในปีหน้า ภาคธุรกิจจะนำเอา Data มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกรองข้อมูล การประเมินผล การทำ CRM และการทำการตลาด ซึ่งจะเสริมสร้างรากฐานของธุรกิจโฆษณาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องกับผลสำรวจของทาง DAAT ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันลูกค้าสนใจในเรื่องของการใช้ Data Analytics เพราะการนำฐานข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์และปรับใช้ในธุรกิจอย่างตรงจุดนั้น ช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีและเก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

*ทักษะความสามารถในวงการดิจิทัล

คุณอมเรศ ระบุว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งและอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่ง Creative technologist ที่ต้องการนักคิดสายพันธุ์ครีเอทีฟที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเชี่ยวชาญ หรือ ตำแหน่ง Data scientist ซึ่งต้องการผู้ที่มีความสามารถทางด้านการวิเคราะห์และปรับใช้ข้อมูล โดยอาชีพเกิดใหม่นี้ได้ให้ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ทำให้คนในวงการดิจิทัลต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง

ขณะที่คุณโสรดา มองว่า การสร้างคนคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมโฆษณาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทางวงการดิจิทัลเองก็มีพันธกิจในการสร้างมาตรฐานการศึกษาเพื่อผลิตบุคลลากรที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวงการดิจิทัลนั้นต้องอาศัยการเปิดใจจากทุกฝ่าย เพราะการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆนั้นต้องอาศัยการลองผิดลองถูก เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและเก็บเกี่ยวประโยชน์ที่ได้จากการศึกษามาใช้ในตัวงานต่อไป

*การจัดการกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล

คุณเอกชัยระบุว่า สำหรับ Winter นั้นเลือกวิธีการสร้างทรัพยากรบุคคลขึ้นมาใหม่ ผ่านการสอน 2 รูปแบบด้วยกัน ประกอบด้วย การสอนผ่าน Academy ของบริษัท และการสอนผ่านประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่ โดย Winter ได้ขยายองค์ความรู้นี้ไปยังคนในองค์กร บริษัทของลูกค้า รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆอีกด้วย

ทางด้านของดร.ศุภชัย มองว่า การจ้างงานคนนอกวงการเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพราะการจ้างงานคนที่มีองค์ความรู้หลากหลายจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆให้กับวงการครีเอทีฟ รวมถึงช่วยรับมือกับความต้องการของลูกค้าในธุรกิจต่างๆ โดยคณะที่มาแรงนอกจากนิเทศศาสตร์นั้น ก็จะมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มัลติมีเดีย และการตลาด

สำหรับคุณอมเรศนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เพราะคุณอมเรศมองว่า การทำความเข้าใจ Gen Y เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากพนักงานรุ่นใหม่ล้วนเป็นคน Gen Y ที่ชอบความเป็นอิสระและไม่ยึดติดกับการทำงานรูปแบบเดิมๆ ซึ่งถ้าทางองค์กรอยากร่วมงานกับคนที่มีความสามารถจริงๆ ก็จะใช้วิธีการยอมปรับเงื่อนไขต่างๆ เช่น การปรับเวลาหรือการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ซึ่งนอกจากบริษัทจะได้ผลงานที่มาจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่แล้ว ทางบริษัทยังเรียนรู้ถึงวิธีการปรับตัวเข้ากับคนที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของบริษัทรุ่นต่อไปอีกด้วย

*สิทธิการเข้าถึง Data ลูกค้าของบริษัทเอเจนซี่

คุณเอกชัยระบุว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาพบลูกค้าที่มีทั้งอนุญาตและไม่อนุญาตให้เข้าถึง Data โดยกลุ่มผู้ที่อนุญาตมีสัดส่วนเพียง 10-15% เท่านั้น

ส่วนคุณอมเรศ ระบุว่า เอเจนซี่สามารถคุยกับลูกค้าได้ว่า ทางบริษัทอาจเลือกใช้เฉพาะส่วนของข้อมูลทั่วไป (non-sensitive data) ไม่รวมถึงส่วนข้อมูลสำคัญ (sensitive data) เพื่อที่จะไม่สร้างความลำบากใจให้กับทั้งสองฝ่าย ขณะที่ดร.ศุภชัยและคุณโสรดามีแนวทางการทำงานที่คล้ายคลึงกัน คือการตกลงกับลูกค้าตั้งแต่ช่วงเริ่มงานว่า ทางเอเจนซี่จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงข้อมูลในส่วนดังกล่าว โดยระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าก่อนนำข้อมูลมาใช้

*อนาคตของเอเจนซี่ไทย เมื่อลูกค้าหันมาจับงาน Digital Marketing ด้วยตัวเอง

สำหรับคำถามนี้ กูรูทั้ง 4 ท่านเห็นตรงกันว่า อนาคตของเอเจนซี่ไทยขึ้นอยู่กับการพัฒนาความสามารถของตัวเอง เอเจนซี่ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ฉับไว ทันกับการทำตลาดในยุคนี้ที่ต้องแข่งขันกันในเรื่องของเวลา และแม้ว่าลูกค้าอาจจะสามารถทำงานในส่วนของ Digital Marketing ได้เองแล้วก็ตาม แต่เอเจนซี่ยังมีความสำคัญอยู่ในแง่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะในเชิงลึก อย่างไรก็ตาม เอเจนซี่ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เราเป็นตัวแทนที่ดีของลูกค้าหรือยัง และต้องพัฒนาทักษะให้ดีกว่าเดิม เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลงานของตัวเองต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ