นางกานดา วัชราภัย ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (United Nations Commission on the Status of Women – CSW) สมัยที่ ๕๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 25, 2014 13:57 —กระทรวงการต่างประเทศ

นางกานดา วัชราภัย ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (United Nations Commission on the Status of Women – CSW) สมัยที่ ๕๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ โดยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ UN Women

ตามที่นางกานดา วัชราภัย ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก และอดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women – CSW) สมัยที่ ๕๙ จากการเสนอชื่อของประเทศไทยนั้น โดยนางกานดาฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเพื่อประชุมเตรียมการการประชุม CSW สมัยที่ ๕๙ โดยได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานเตรียมการจัดประชุม CSW (CSW Bureau) การหารือร่วมกับรัฐสมาชิก ครั้งที่ ๓ (Third Consultation with Member States) และการหารือร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs Briefing) ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ผลจากการประชุมเตรียมการ CSW โดยสรุป คือ

๑. การประชุม CSW สมัยที่ ๕๙ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการประชุม CSW ในสมัยนี้จะให้ความสำคัญกับการทบทวนความก้าวหน้าและความสำเร็จ รวมทั้งข้อท้าทายในการดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการดังกล่าว นอกจากนี้ CSW ๕๙ ยังคาดหวังในการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของ CSW ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการรับรองข้อมติในเรื่องดังกล่าว

๒. คณะทำงานเตรียมการจัดประชุม CSW สมัยที่ ๕๙ เน้นย้ำให้เกิดคำมั่นทางการเมืองที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงเน้นถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้แทนระดับรัฐมนตรีในการเข้าร่วมประชุมฯ โดยรูปแบบการประชุมจะประกอบไปด้วย (๑) การรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ในวันแรกของการประชุม (๒) การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Round tables) จำนวน ๔ การประชุม โดยจะจัดคู่ขนานกัน ๒ การประชุม มีหัวข้ออาทิ เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิง การลงทุนในเรื่องความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังแก่ผู้หญิง (๓) เวทีอภิปรายในประเด็นที่สำคัญ เช่น กลไกระดับชาติในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การตระหนักถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็กกลุ่มเปราะบาง ทรัพยากรในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ: ตัวอย่างที่ดี กลยุทธ์ในการปฏิบัติ และก้าวต่อไป (๔) การหารือในเรื่อง ความรับผิดชอบของผู้ชายและเด็กชายเพื่อสนับสนุนการบรรลุความเสมอภาคทางเพศ

๓. การเป็นประธาน CSW ๕๙ ของไทยสะท้อนความสำคัญที่ไทยให้ต่อเรื่องความก้าวหน้าและสิทธิสตรี โดยไทยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การประชุม CSW ๕๙ บรรลุความสำเร็จ โดยมุ่งผลให้การประชุมยกระดับมาตรฐานความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังอำนาจของสตรีให้มีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ ภายหลัง ๒๐ ปีของการครบรอบปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ