รายงานประเทศของไทยภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Monday February 8, 2016 13:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) และมีกำหนดนำเสนอรายงานประเทศในช่วงการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่นครเจนีวา

กระบวนการ UPR เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้ง HRC โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกประเทศไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนจะต้องดำเนินการโดยแต่ละประเทศเอง ดังนั้น กระบวนการ UPR จึงมีรูปแบบ “เพื่อนแนะนำเพื่อน” (peer review) โดยเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศแสดงความคิดเห็นพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศที่ถูกทบทวน โดยทุกประเทศได้เข้าร่วมกระบวนการ UPR โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงาน UPR รอบที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๔ ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากประเทศต่าง ๆ มาปฏิบัติ รวม ๑๓๔ ข้อ และต่อมา ประเทศไทยได้จัดส่งรายงานระยะกลางรอบโดยสมัครใจ (voluntary midterm update) ซึ่งได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศว่าเป็นแนวทางที่ดีในการรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ

ในกระบวนการจัดทำรายงาน UPR รอบที่ ๒ นี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ยกร่างและปรับปรุงร่างรายงานผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม ผ่านกลไกคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศและติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะภายใต้กลไก UPR โดยมีการหารือกลุ่มย่อยเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนรายประเด็น และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน ๕ ภูมิภาค (จ.เชียงใหม่ จ.อุดรธานี จ.ตาก จ.สงขลา และกรุงเทพฯ) เพื่อให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม รวมถึงรายงานพัฒนาการการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจาก UPR รอบที่ ๑ จึงเป็นรายงานที่นำเสนออย่างสมดุล สะท้อนทั้งพัฒนาการและความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข

สาระของรายงานครอบคลุมประเด็น ได้แก่ (๑) พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในเรื่องรัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐบาล แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรอบด้านกฎหมาย กลไกด้านสิทธิมนุษยชน ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน(๒) การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิด้านการพัฒนาและการขจัดความยากจน สิทธิในการทำงาน สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิด้านการศึกษา (๓) กระบวนการปฏิรูปประเทศ และ (๔) ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในภาพรวม

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ และกระทรวงการต่างประเทศได้จัดส่งรายงานดังกล่าวให้แก่ HRC แล้ว ซึ่งสำนักเลขานุการ HRC จะเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งแปลเป็นภาษาทางการของ UN ภาษาอื่นๆ ต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ