รายงานขององค์กร Amnesty International เกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Friday September 30, 2016 11:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่องค์กร Amnesty International ได้เปิดตัวรายงานเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Make Him Speak by Tomorrow: Torture and Other Ill-treatment in Thailand เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนชี้แจง ดังนี้

  • รัฐบาลไทยยินดีเปิดกว้างรับฟังข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภารกิจของรัฐบาลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมของไทย อย่างไร ก็ดี ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีส่วนใหญ่ที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตนของผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเหยื่อของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในรายงาน
  • รัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนทุกคนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยหากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายต่อประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่ปรากฏในรายงานจริง ผู้กระทำผิดย่อมจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินคดีอาญา
  • เหยื่อจากการทรมานย่อมได้รับความช่วยเหลือและการเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งระบบการเยียวยาแบบองค์รวมซึ่งครอบคลุม การฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ การพักฟื้น การกลับสู่สภาพเดิม ให้ความพึงพอใจ และการประกันว่าจะไม่มีการทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายซ้ำอีก
  • ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การผลักดันกฎหมายเพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ นอกจากจะช่วยให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีของ CAT ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ไทยสามารถให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) อีกด้วย
  • นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (Optional Protocol to the Convention against Torture – OPCAT) โดยมีการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็นกลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการทรมาน (The National Preventive Mechanism - NPM) ตามพิธีสารเลือกรับฉบับดังกล่าว รวมทั้งให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับฯ ในอนาคต
  • รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นภาคี OPCAT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ในปีนี้

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ