กิจกรรม Lower Mekong Initiative (LMI) Frontiers of Science Education Symposium

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 27, 2017 17:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยและสหรัฐฯ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานหลักของคณะทำงานด้านการศึกษาภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างหรือ Lower Mekong Initiative (LMI) โดยกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ LMI Frontiers of Science Education Symposium ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ (science educators) กว่า ๖๐ คน จากประเทศสมาชิก LMI ได้แก่ ไทย สหรัฐฯ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ประเทศละ ๖ – ๑๐ คน ได้สร้างเครือข่าย พบหารือ อภิปราย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด แนวปฏิบัติ รวมถึงเทคนิคการเรียนการสอน ในรูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมี ศ.ดร. Geraldine Richmond ผู้แทนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จากมหาวิทยาลัย Oregon เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม และ ศ.ดร. Deborah Ball อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) Education จากมหาวิทยาลัย Michigan เป็นผู้บรรยายพิเศษ

ในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาในฐานะแขกรับเชิญพิเศษ แสดงวิสัยทัศน์และกล่าวถึงบทบาทการดำเนินการของไทยในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนในด้าน STEM Education จากมุมมองของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ โดยมีนายวิชชุ เวชชาชีวะ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และนาย Peter Haymond ตำแหน่ง Deputy Chief of Mission สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นกรอบความร่วมมือที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยกิจกรรม LMI Frontiers of Science Education Symposium มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากประเทศลุ่มน้ำโขงและสหรัฐฯ ได้พบหารือและสร้างเครือข่ายเพื่อขยายความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศในด้านนี้ ให้มีองค์ความรู้ที่เหมาะสมจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศและอนุภูมิภาคในศตวรรษที่ ๒๑ ต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ