รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2012 16:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มกราคม 2555

Summary:

1. สหพันธ์ขนส่งฯ ร้องก.พลังงานทวบทวนการปรับราคา NGV

2. กิตติรัตน์ “ปี 55 ปี ทองของไทย มั่นใจจีดีพีโต 7%”

3. ฟิทช์ประกาศลดอันดับเครดิตฮังการีลงสู่ระดับ BB+

Highlight:
1. สหพันธ์ขนส่งฯ ร้องก.พลังงานทวบทวนการปรับราคา NGV
  • เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ตัวแทนสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ได้เข้าพบ รมว.พลังงาน เพื่อขอให้รัฐบาลเลื่อนมาตรการการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่จะเริ่มในวันที่ 16 ม.ค.นี้ออกไปก่อน และขอให้ ปตท.ชี้แจงราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีที่ชัดเจนโดยประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ปัจจุบันภาคขนส่งรถบรรทุกจะใช้ก๊าซเอ็น

จีวีเพียงร้อยละ 5 (ประมาณ 50,000-60,000 คัน) แต่การปรับขึ้น ราคาก๊าซเอ็นจีวีจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะค่าสึกหรอ และเห็นว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของราคาน้ำมันดีเซล หรือไม่เกินกิโลกรัมละ 10.50 บาทจากปัจจุบันที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท

  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านการปรับราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ให้สะท้อนราคาที่แท้จริงตามราคาในตลาดโลก ส่งผลให้จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV เพิ่มขึ้นเดือนละ 0.5 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะเริ่มในวันที่ 16 ม.ค. 55 ทั้งนี้หากคิดโดยรวมทั้งปี จะทำให้ราคาก๊าซNGV เพิ่มขึ้น 6 บาท คิดเป็นการเพิ่มร้อยละ 70.6 ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงต้นทุนด้านการขนส่งให้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การปรับเพิ่มราคาก๊าซ NGV อาจส่งผลกระทบต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อโดยจะผ่านไปยังหมวดยานพาหนะและเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13.6 ของตะกร้าสินค้า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายบัตรเครดิตพลังงาน ที่จะให้วงเงิน และส่วนลด จากการเติมเชื้อเพลิงดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์คือ กลุ่มผู้ให้บริการด้านการขนส่ง อาทิ แท็กซี่รถสามล้อ รถตู้โดยสาร และรถบรรทุก

2. กิตติรัตน์ “ปี 55 ปี ทองของไทย มั่นใจจีดีพีโต 7 %”
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” ว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 จะเป็นปีทองทางด้านเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีโครงการหลายเรื่องที่จะเดินหน้าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยให้กำลังซื้อ ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่ทั่วโลกกังวลในเรื่องการส่งออกนั้น ยอมรับว่าอาจกังวลบ้าง แต่ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศยูโรโซนเพียงร้อยละ 9.8 ทั้งนี้ในปี 55 จะเป็นปีแห่งการลงทุน โดยเฉพาะการสร้างระบบบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตร้อยละ 7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากวิกฤติน้ำท่วม โดยจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวเร่งขึ้น ตามความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับ

นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ และโครงการจำนำข้าวเปลือก ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5-5.5)

3. ฟิทช์ประกาศลดอันดับเครดิตฮังการีลงสู่ระดับ BB+
  • ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮังการีลง 1 ขั้น สู่ระดับ BB+ ซึ่งเป็น “ระดับขยะ” จากเดิมที่ระดับ BBB- เนื่องจากสถานะการคลังที่ย่ำแย่ของรัฐบาลฮังการี รวมทั้ง แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ในการเจรจาเรื่องเงินกู้ระหว่างรัฐบาลฮังการี และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสหภาพยุโรป (EU) ที่ยังคงไม่มี

ความคืบหน้านั้น ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟิทช์ตัดสินใจปรับลดอันดับเครดิตของฮังการีในครั้งนี้ด้วยขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้คงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของฮังการีไว้ที่ “เชิงลบ” ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสมากกว่า 50 % ที่ฟิทช์จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮังการีลงอีก ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า

  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮังการีนั้นสะท้อนถึงเศรษฐกิจฮังการีที่อ่อนแอลงตามวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่ลุกลามมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดการเงินโลก และทำให้ค่าเงินเกิดความผันผวนตลอดจนส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยในที่สุดผ่านทางภาคการส่งออก ทั้งนี้ การส่งออกไปยังประเทศฮังการี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด หรือ 0.003 ของจีดีพี สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ 1) เครื่องคอมพิวเตอร์ 2) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 3) ก๊อก วาล์ว 4) เครื่องใช้ไฟฟ้า และ 5) วงจรพิมพ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ