รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 2, 2014 14:01 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ค. 57 ปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 200.2 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน ก.ค.57 หดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.9
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 57 หดตัวในอัตราชะลงที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนก.ค.57 หดตัวร้อยละ -37.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -21.5
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน ก.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวcร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฟิลิปปินส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ก.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 57 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ -10.0

Indicator next week

Indicators                        Forecast  Previous
Aug : Headline Inflation  (%yoy)      2.3      2.2
  • สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูปและราคาเนื้อสัตว์และสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ราคาพืชผักผลไม้มีแนวโน้มลดลงจากปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของคสช. มีผลให้ราคาในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารปรับตัวลดลง และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.1 (mom)
Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ค. 57 ปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 200.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในเดือนก.ค. 57 มี การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 189.4 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 19.6 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 170.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.4 (2) รายจ่ายลงทุน 19.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.0 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 29.2 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 16.7 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 12.3 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 10.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 57 ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงปม. เบิกจ่ายได้ 1,909.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 75.6 ของวงเงิน งปม.
  • การส่งออกในเดือน ก.ค.57 มีมูลค่า 18,896.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากขยายตัวเป็นบวกในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.9 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -2.8 จากการขยายตัวชะลอลงของสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ตามการหดตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ -0.2 และสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ประกอบกับสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -21.4 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้ายานยนต์ขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 4.8 และ 10.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 และปริมาณการส่งออกหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -0.7 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน ก.ค. 57 มีมูลค่า 19,998.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ ร้อยละ -14.0 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของสินค้าเชื้อเพลิงที่ร้อยละ 12.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -29.9 และสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.1 ตามการนำเข้าสินค้าทุนรายการพิเศษ อาทิ เครื่องบิน เรือและรถไฟ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบหดตัวที่ร้อยละ -3.2 และ -12.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 และปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และจากการที่มูลค่าการส่งออกต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 57 ขาดดุล -1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 57 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และยานยนต์ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มาจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์มาจากการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ ประกอบกับปัจจัยฐานของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตตามโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นระบบดิจิตอล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวได้ คือ เครื่องหนัง ยางพลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแบบเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่า ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนก.ค.57 อยู่ที่ 29,674 คัน หรือหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -37.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -33.7 อย่างไรก็ดี ยังถือได้ว่ายังคงหดตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งจากฐานการคำนวณในครึ่งปีแรกของปี 56 ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ จากการผลิตเพื่อส่งมอบตามนโยบายรถคันแรก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -46.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ 39,850 คัน หรือหดตัวร้อยละ -21.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -27.5 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -20.7 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -28.5 ตามการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศเนื่องจากมีการเร่งการลงทุนไปแล้วในปีก่อน ประกอบกับผู้ประกอบการรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการมีการชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -32.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน ก.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.0 สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในปี 57 ตามการหดตัวของยอดขายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 64.4) ที่หดตัวร้อยละ -10.6 ขณะที่เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 13.2 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และเหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 11.2) ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูปและราคาเนื้อสัตว์และสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ราคาพืชผักผลไม้มีแนวโน้มลดลงจากปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของคสช. มีผลให้ราคาในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารปรับตัวลดลง และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.1 (mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 1.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (เทียบเท่าร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ต่อปี) สูงกว่าตัวเลขในการประกาศครั้งก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (เทียบเท่าร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ต่อปี) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การลงทุนเร่งตัวขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 7.3 หลังจากที่ชะลอตัวลงมากในไตรมาส 1 จากปัญหาสภาพอากาศหนาวจัดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน ทั้งนี้ GDP ในครึ่งแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 92.4 จุด ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 90.3 จุด เนื่องจากมุมมองต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวม กิจกรรมทางภาคธุรกิจ และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมองว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังคงไม่ชัดเจน ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดอนุมัติสร้างบ้านใหม่เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า บ่งชี้การลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าโลหะแปรรูป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเชื้อเพลิงพลังงานที่หดตัวเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับลดลงเล็กน้อย อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7

Eurozone

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 57 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ -10.0 ตามสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง สะท้อนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่อาจส่งสัญญาณชะลอลงในระยะต่อไป

Taiwan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากปัจจัยฐานสูงและผลผลิตภาคการผลิตที่ชะลอลงเป็นสำคัญ

South Korea: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดใน 5 เดือน จากผลผลิตทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.9 จาก ไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ เป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.3 และ 3.6 เป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.0 ผลจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและอปกรณ์ขนส่งที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.4 และ 13.9 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัวส่งผลให้ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 731.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 423.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลิตสินค้าในหมวดเวชสำอางที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 28.5 เป็นสำคัญ ด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ผลจากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ลดลงเป็นสำคัญ

Vietnam: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ผลจากการส่งออกยางพาราที่หดตัวร้อยละ -26.9 ตามราคายางในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 15.6 จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -3.0 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 100.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.9 จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนเป็นสำคัญ

Hong Kong: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกันจากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องประดับอัญมณีและสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน จากการส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 (สัดส่วนร้อยละ 54.8 ของการส่งออกรวมปี 56) ที่ชะลอตัวลง กอปรกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 กลับมาหดตัวเช่นกัน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 ขาดดุล 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

United Kingdom: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 57 กลับมาเป็นบวกอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่1.0 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและภาคการเงินที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ผู้บริโภคมีมุมมองเชิงลบต่อเนื่องมายาวนาน สะท้อนแนวโน้มว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 57 ที่ 1,564.58 จุด ก่อนจะปิดลดลงเล็กน้อยที่ระดับ 1,559.05 ในวันถัดมา โดยระหว่างสัปดาห์มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 44,060 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ จากความมั่นใจของนักลงทุนในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่น่าจะมีการจัดตั้ง ครม. เรียบร้อยเร็วๆนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 ส.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 158.5 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปปรับลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ตามทิศทางของ US Treasury ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 ส.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 498.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 28 ส.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.16 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และหยวน ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 28 ส.ค. 57 ปิดที่ 1,289.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งสูงกว่าต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,276.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ