รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 29, 2014 11:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กันยายน 2557

Summary:

1. ประจินคาดสรุปขึ้นค่าแท็กซี่ต้นเดือน ต.ค. 56 ส่วนค่าโดยสาร MRT ตรึงราคาจนถึงสิ้นปี 57

2. ธปท.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5

3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ทะยานสูงสุดในรอบ 14 เดือน

1. ประจินคาดสรุปขึ้นค่าแท็กซี่ต้นเดือน ต.ค. 56 ส่วนค่าโดยสาร
  • MRT ตรึงราคาจนถึงสิ้นปี 57 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว. คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ได้ยื่นหนังสือมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อขอปรับอัตราค่าโดยสารเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะอนุญาตให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ได้หรือไม่แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือน ต.ค. 56 นอกจากนี้ในส่วนของการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) นั้นได้มอบหมายให้ตัวแทนไปเจรจากับบมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ซึ่งบริษัทฯ ยินดีที่จะขยายเวลาการปรับขึ้นค่าโดยสารให้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.57 แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องพิจารณาข้อกฎหมายว่าต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ขณะที่ในปี 58 มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนให้เห็นว่าเสถียรภาพของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการลงอีกครั้ง ในเดือน ต.ค. 57 หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมราคาอาหารและตรึงราคาพลังงานรวมถึงการตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 อย่างไรก็ตามหากมีการปรับอัตราค่าโดยสารแท๊กซี่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.0-11.0 ตามระยะทางอาจเป็นแรงกดดัน ด้านต้นทุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 57 ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.04-0.06 จากกรณีฐาน โดยค่าโดยสารแท๊กซี่จัดอยู่ในหมวดค่าโดยสารสาธารณะซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 2.2 ของตะกร้าเงินเฟ้อปีฐาน 54 ขณะที่ในปี 58 การปรับขึ้นค่าโดยสาร MRT จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0003
2. ธปท.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5
  • นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 57 ไว้ที่ร้อยละ 1.5 เนื่องจากภาคการส่งอออกฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะมีข้อจำกัดในการผลิตเพื่อส่งออก และเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะยุโรปกับญี่ปุ่นยังขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ในปี 58 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 โดยปัจจัย ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงที่ร้อยละ1.5-2.5 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57) เนื่องจาก 1) อัตราการเจริญเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 2) อุปสงค์ภายนอก สะท้อนจาก การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 57 อยูที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองจะส่งสัญญาณที่ดีต่อระดับความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนตามนโยบายเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและการดำเนินมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน อย่างไรก็ดี สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 57 และปี 58 ในเดือน ต.ค. 57 นี้
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ทะยานสูงสุดในรอบ 14 เดือน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (Thomson Reuters/University of Michigan final index of sentiment) เดือน ก.ย. ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.6 จากระดับ 82.5 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน จากการที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการจ้างงานที่ขยายตัวดีที่สุดในรอบ 15 ปี และราคาพลังงานที่ถูกลงจากเทคโนโลยี Shale gas
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.ย. ทำให้ค่าเฉลี่ยของดัชนีในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวมาอยู่ที่ 82.97 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 82.83) และเป็นไตรมาสที่ระดับความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนถึง ร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจภาพรวม อีกทั้งแนวโน้มปริมาณการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังมีทิศทางขาลงต่อเนื่อง (6 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -4.75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) จากราคาพลังงานภายในประเทศที่ถูกลงจะยังเป็นอีกปัจจัยบวกหนุนเสริมเศรษฐกิจอีกเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ