รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 19 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2015 13:29 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน พ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -19.3 จากปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.5 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.3 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. 58 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี
  • ยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.1 จากเดือนก่อน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ราคาบ้านใหม่ของจีน เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.1

Indicator next week

Indicators         Forecast   Previous
May: ยอดขายรถยนต์นั่ง   -15.0      -24.7
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.)
 เดือน พ.ค. 58 ได้ทั้งสิ้น 224.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -19.3 จากปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 74.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละร้อยละ -24.9 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.8 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ -20.5 จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่การจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.1 จากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลง ร้อยละ -18.5 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ -23.6 จากปีก่อน ซึ่งผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และผู้ประกอบการเปลี่ยนยื่นชำระภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา              จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปีก่อน ตามภาษีฐานเงินเดือนที่ยังขยายตัวได้ดี และสอดคล้องกับการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค. 57 -  พ.ค. 58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ทั้งสิ้น 1,370.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร 56.5 พันล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ -4.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 58 มีมูลค่า 53.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 อันเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.4 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บ บนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.6
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -14.8 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.1 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล(%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่หดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จากสถานการณ์ภัยแล้งและปริมาณน้ำเขื่อนในระดับต่ำจนต้องระงับการส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งล่าสุดสถานการณ์น้ำในเขื่อนยังไม่ดีขึ้นจนทำให้ต้องขอความร่วมมือให้ชาวนาชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปเพิ่มเติมจากการงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปรัง แต่อย่างไรก็ตาม พืชผลที่ใช้น้ำน้อย และทนทานต่อความแห้งแล้ง เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.3 และ 12.5 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมตั้งแต่ต้นปี 58 หดตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกันที่ร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.5 หรือคิดเป็นการขยายร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามราคายางพารา จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนราคาในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังคงหดที่ตัวร้อยละ -8.2 และ -15.9 ตามลำดับ ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผลผลิต อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกขยายตัวได้หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 56 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่นเดียวกันกับราคาในหมวดไม้ผล ได้แก่ สับปะรดโรงงาน มังคุด และลิ้นจี่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ -6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. 58 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 58 ลงมาที่ร้อยละ 1.8-2.0 จากร้อยละ 2.3-2.7 ในประมาณการครั้งก่อน ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 จากยอดขายรถยนต์และอาหารที่ชะลอตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากการผลิตรถยนต์และเครื่องมือเครื่องจักร ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.1 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดสร้างบ้านทุกประเภทที่หดตัว ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากคอนโดมีเนียมที่เร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหาร ที่อยู่อาศัย และเสื้อผ้าที่ปรับลดลง

China: improving economic trend

ราคาบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -6.1 ในเดือนก่อน โดยแม้หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่นับเป็นครั้งแรกที่หดตัวในอัตราชะลอลง โดยราคาบ้านใหม่ในเมืองใหญ่ เช่น เซินเจิ้น เริ่มกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายของทางการจีนที่ออกมาเป็นระยะเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าทุน สินค้าคงทน สินค้าขั้นกลาง และพลังงาน ขณะที่สินค้าบริโภคกึ่งคงทนหดตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัวต่อเนื่อง ยอดส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 24.3 พันล้านยูโร

Japan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนที่ชะลอตัวลง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดนำเข้าสินค้าหมวดวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวขาดดุลมูลค่า -2.2 แสนล้านเยน

Australia: worsening economic trend

ยอดขายยานยนต์ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถสปอร์ตที่ชะลอลงมาก

Indonesia: mixed signal

ยอดส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -15.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ยอดนำเข้า หดตัวร้อยละ -21.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากราคาในหมวดอาหาร การขนส่งและโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น

United Kingdom: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ติดลบร้อยละ -0.1 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดสุราและบุหรี่ การขนส่ง ร้านอาหาร และโรงแรม ขณะที่ราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากยอดขายในหมวดเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ยอดขายในหมวดอาหาร ร้านค้า สินค้าใช้ภายในบ้าน และสถานีบริการน้ำมัน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

India: worsening economic trend

มูลค่าส่งออกเดือน พ.ค. 58 หดตัวตัวร้อยละ -20.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มูลค่านำเข้า เดือน พ.ค. หดตัวร้อยละ -16.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำเช่นกัน ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุล 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากราคาน้ำมันและพลังงาน สินค้าอุตสาหกรรม

Singapore: mixed signal

ยอดขายปลีก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้า อาทิ ยานยนต์ เครื่องประดับ อุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปกลุ่มประเทศในเอเชียและยูโรโซนที่ชะลอลง ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -19.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านอัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบเหนือระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 18 มิ.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,508 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 33,691.7 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนชาวต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. 58 ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 58 ลงค่อนข้างมาก และการเจรจาหนี้กรีซยังไม่มีข้อสรุป ทำให้มีการเรียกร้องให้เปิดการประชุมวาระฉุกเฉินในสัปดาห์หน้า สร้างความกังวลให้กับตลาด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,965.7 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง 1-15 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ ภายหลังที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอติดตามการประกาศผลประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 58 โดย ธปท. ในวันที่ 19 มิ.ย. 58 ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า ธปท. จะปรับลดประมาณการลงจากครั้งก่อน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 1,864.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 18 มิ.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้น เงินหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลภูมิภาคโดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.22 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ