ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2560 และแนวโน้มปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2017 14:23 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560

 (%YoY)                         2558           2559             2560
                                ทั้งปี     ทั้งปี     Q3     Q4     Q1    ทั้งปี (f)
GDP (CVM)                       2.9     3.2    3.2    3.0    3.3  3.3-3.8
การลงทุนรวม                      4.4     2.8    1.0    1.8    1.7    4.4
ภาคเอกชน                       -2.2     0.4   -0.8   -0.4   -1.1    2.0
ภาครัฐ                          29.3     9.9    5.8    8.6    9.7   12.6
การบริโภคภาคเอกชน                2.2     3.1    3.0    2.5    3.2    3.0
การอุปโภคภาครัฐบาล                3.0     1.7   -5.2    1.8    0.2    3.2
มูลค่าการส่งออกสินค้า               -5.6     0.0    0.4    3.6    6.6    3.6
ปริมาณ1                         -1.5     0.4   -0.2    1.4    2.8    1.6
มูลค่าการนำเข้าสินค้า1             -10.6    -4.7   -2.4    6.7   15.9    7.0
ปริมาณ1                          0.3    -2.1   -1.4    3.2    7.3    3.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด                    8.1    11.5   10.6    9.3   12.3    8.9
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                         -0.9     0.2    0.3    0.7    1.3  0.8-1.3
หมายเหตุ:  ฐานข้อมูลดุลการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย 1
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ร้อยละ 1.3 (QoQ_SA)
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนรวม ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัวลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม และสาขาก่อสร้างชะลอตัว
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก (2) การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น (3) การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (4) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.3 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.9 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การใช้จ่ายของรัฐบาลและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ (2) การสนับสนุนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ร้อยละ 5.0 โดยการสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น การติดตามและแก้ปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ การขยายตลาดส่งออกเชิงรุก และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการส่งออก (3) การสนับสนุนการขยายตัวของรายได้เกษตรกร และการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในฤดูการผลิต 2560/2561 การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิตควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการผลิตพืชที่มีมูลค่าสูง การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มาตรการช่วยเหลือทางตรงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม การดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การกระตุ้นให้โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 - 2559 มีการลงทุนโดยเร็ว และการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และ (5) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล การสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากจีนโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง การสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนรวม ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัวลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาขนส่งและคมนาคม และการผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม และสาขาก่อสร้างชะลอตัว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ร้อยละ 1.3 (QoQ_SA)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560

1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนและรายจ่ายภาคบริการ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ภาคเกษตร สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ร้อยละ 38.8 ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.2 เทียบกับระดับ 61.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 17.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และการลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 1.1 โดยการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 4.5 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.3 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ และการลดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเศรษฐกิจฐานราก ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.8 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาสก่อนหน้า

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 56,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้า ในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รถกระบะและรถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เป็นต้นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล รถยนต์นั่ง และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน และ CLMV ขยายตัว สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMV แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอาเซียน (5) ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0

4) สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวสูงร้อยละ 7.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุด ในรอบยี่สิบไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2555) เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 63.0) ข้าวโพด (ร้อยละ 39.6) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 7.0) และอ้อย (ร้อยละ 7.3) ในขณะที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา และมันสำปะหลัง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ใน ไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อ้อย ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ราคาข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดลดลง การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามร้อยละ 20.1 และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงร้อยละ 2.5 ของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ร้อยละ 6.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 1.7 ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ฯ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.57

6) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 8.5 (การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 21.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ) ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 11.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.5 โดยการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างอาคารโรงงาน ลดลงร้อยละ 4.7 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ ในขณะที่การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ร้อยละ 2.0 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ปรับตัวลดลง

7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 712.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 481.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 230.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพภายในประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 73.35 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72.70 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560

สศช. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก (2) การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น (3) การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (4) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.3 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.9 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2560

ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนและการขยายตัวของรายจ่ายภาคบริการ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ภาคเกษตร โดยในไตรมาสแรกของปี 2560 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 38.8 จากการเปิดตัวรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่นใหม่ และการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ร้อยละ 4.4 ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ขยายตัวร้อยละ 7.1 ร้อยละ 3.9 และ ร้อยละ 1.7 ตามลำดับ การปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.2 เทียบกับระดับ 61.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส

การลงทุนภาคเอกชน: การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.1 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.3 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ และการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบ ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 4.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ใน ไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องในประเทศและพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ร้อยละ 5.1 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 62.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 26.0 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงในมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ นักลงทุนจากประเทศจีน แต่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่ ยอดการอนุมัติและการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 239.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3) ส่วนการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 241.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.8 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาสก่อนหน้า

การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2560 มีมูลค่า 56,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ (1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMV และ (2) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.7) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.0) ราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.4) ราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) และราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.1) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,973 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ซึ่งได้รับปัจจัยสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกยางพารา ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกยางพารา และน้ำตาลเป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 7.0 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.6 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศโกตดิวัวร์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 18.1 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.0 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 10.9

ยางพารา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เนื่องจากการเร่งนำเข้าของจีนเพื่อสะสมสินค้าคงคลัง มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 14.2 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 39.0 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 51.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.3) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 15.8) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 3.6) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 11.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 40.8) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 7.5) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 21.9) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่ง และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ลดลงร้อยละ 19.1 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.5 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาหมึก สินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลงร้อยละ 35.0 เป็นผลมาจากการลดลงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 37.5 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 1,718 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม)

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง (15) ลดลง การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ร้อยละ 8.7 และร้อยละ 36.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 17.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีนส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 15.5 แต่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) ลดลงร้อยละ 8.4 ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 3.3 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 22.9 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลีย การลดลงของการส่งออกเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และรถยนต์ไปยังตลาดญี่ปุ่น และการลดลงของการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตลาดตะวันออกกลาง

การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งปริมาณและราคานำเข้า ในไตรมาสแรกของปี 2560 การนำเข้ามีมูลค่า 47,406 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป และปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,664 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 และปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และอากาศยาน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งปริมาณและราคานำเข้าร้อยละ 0.1 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้นมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 2,452 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.3

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 แต่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 115.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นระดับ 110.5 ในไตรมาสแรกของปี 2560

เทียบกับการเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (234.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 11.8 ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (309.1 พันล้านบาท) พันล้านดอลลาร์ สรอ. (421.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรม: ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นหลังจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลง ในขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าในตลาดโลก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกของปี 2560 การผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวสูงร้อยละ 7.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบยี่สิบไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2555) สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยดัชนีผลผลิตหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน และกลุ่มไม้ผล ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของผลผลิตพืชผลทางการเกษตรในไตรมาสนี้ ได้แก่ (1) ปริมาณน้ำชลประทานเพื่อการเกษตรสูงกว่าปีการเพาะปลูกก่อนหน้า ส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่การทำนาปรัง (2) การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวรอบ 2 ในปีการผลิต 2559/60 (3) ความล่าช้าในการเปิดหีบอ้อยในปีการเพาะปลูก 2559/60 (เดือนธันวาคม 2559 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558) ส่งผลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตช้ากว่าปีการเพาะปลูก 2558/59 (4) ผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีการเพาะปลูก 2558/59 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์และดัชนีผลผลิตหมวดประมงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ เนื่องจากการจัดการฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์และบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดส่งออก ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดพืชผลและหมวดประมงเป็นสำคัญ พืชผลเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 104.9) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 10.6) อ้อย (ร้อยละ 28.8) เป็นต้น ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้า โภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากข้อตกลงการจำกัดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปก (OPEC) และการขยายตัวของความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยางล้อของจีน ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน และราคาอ้อยปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบและน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกอยู่ในภาวะตึงตัว โดย (1) ผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศผู้ผลิตสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง ในขณะที่ความต้องการของตลาดขยายตัว โดยเฉพาะความต้องการใช้เพื่อผลิตพลังงานทางเลือก ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง และ (2) ผลผลิตอ้อยของบราซิลลดลงจากปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือก มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล และสินค้าหมวดปศุสัตว์ลดลง การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม

สาขาอุตสาหกรรม: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นสำคัญ ในขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกหลายรายการปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมเพื่อบริโภคภายในประเทศขยายตัว ในไตรมาสแรกของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงร้อยละ 2.5 ของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ร้อยละ 6.0 (สัดส่วนร้อยละ 42.86 ของกลุ่ม) ในขณะที่

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 1.7 สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดย (1) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสารในตลาดส่งออกสำคัญๆ โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น (2) การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวร้อยละ 9.6 และเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเหล็กทรงยาว (เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวด และเหล็กลวดแรงดึงสูง) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน และเหล็กทรงแบน (เหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อน) ซึ่งคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ (3)การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.57 เทียบกับ ร้อยละ 63.25 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuit: IC) (ร้อยละ 14.5) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ร้อยละ 9.6) เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 5.7) เครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive: HDD) (ร้อยละ 10.0) และการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (ร้อยละ 3.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ -6.0) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ฯ (ร้อยละ -6.4) ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (ร้อยละ -3.0) เครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ทำจาก ขนสัตว์ (ร้อยละ -4.7) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ -3.3) เป็นต้น

สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐโดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ในไตรมาสแรกของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.5 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 21.3 ตามลำดับ) ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 11.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า ในขณะที่

การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.5 โดยการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ การก่อสร้างอาคารโรงงาน และการก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 4.7 ร้อยละ 11.6 และร้อยละ 29.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 8.2 และการลดลงของปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องในประเทศและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ที่ลดลงร้อยละ 6.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสิบไตรมาส ร้อยละ 2.0 ประกอบด้วย (1) ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ตามราคาเหล็กในตลาดโลก และต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล (2) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก เป็นต้น และ (3) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในขณะที่หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ปรับตัวลดลง

สาขาการค้าส่งค้าปลีก:ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การท่องเที่ยว และการส่งออก ในไตรมาสแรกของปี 2560 สาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูง รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการท่องเที่ยว โดยดัชนีค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายสินค้าหมวดสินค้าไม่คงทน ยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป ยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง และยอดขายหมวดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยอดขายปลีกสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 0.6 ส่วนดัชนีค้าส่งปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงในหมวดยอดขายสินค้าไม่คงทน หมวดยอดขายสินค้าคงทน และหมวดยอดขายสินค้าอื่นๆ ในขณะที่หมวดยอดขายสินค้าขั้นกลางขยายตัวต่อเนื่อง

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร:ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและอัตราการเข้าพัก ในไตรมาสแรกของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ปรับตัว ดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 โดยในไตรมาสนี้มี

รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 712.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 481.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ และ(2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 230.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพภายในประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 73.35 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72.70 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สาขาขนส่งและคมนาคม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของทั้งบริการขนส่งและบริการโทรคมนาคม ในไตรมาสแรกของปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกขยายตัวร้อยละ 5.7 และ (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 10.0 ได้แก่ บริการเที่ยวบินสำหรับผู้โดยสารทางอากาศขยายตัวร้อยละ 10.1 ส่วนบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 9.1 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 8.9 ใน ไตรมาสก่อนหน้า และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการในระบบ 4G LTE (4th Generation Long Term Evolution)

การจ้างงาน: การจ้างงานรวมยังปรับตัวลดลง แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสโดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัว ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่า ในไตรมาสแรกของปี 2560 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.4 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานในการผลิตและเก็บเกี่ยวอ้อย และข้าว เป็นสำคัญ ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 4.2 และการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรม ในขณะที่การจ้างงานของสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.2

ด้านการคลัง

การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 (มกราคม - มีนาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 488,815.5 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,754.8 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.8 เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ส่วนราชการที่มิใช่รัฐวิสาหกิจได้มีการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) ซึ่งทำให้การจัดเก็บรายได้ในช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้จากภาษียังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 จากการปรับเพิ่มอัตราภาษี รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ร้อยละ 8.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม

รวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 แต่ยังสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 0.7

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 709,003.6 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 190,000 ล้านบาท) มีการเบิกจ่าย 576,321.2 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 21.1 ของวงเงินงบประมาณ โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 477,712.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นผลจากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำที่ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.0 และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 98,608.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8

(2) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (วงเงิน 190,000 ล้านบาท) ซึ่งเริ่มมีการเบิกจ่ายในเดือนมีนาคมมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 110.4 ล้านบาท (3) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 59,835.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.9 (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวม ปตท.) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 72,293.7 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1,840.3 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.6 (5) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,282.9 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน 2,096.7 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 186.2 ล้านบาท

รวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 1,452,817.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.9 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 49.7 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 52.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 50.9 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 190,975.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 17.0 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 31.5 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 41.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 32.8 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 152,914.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.4 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวม ปตท.) คาดว่ามีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 183,474.7 ล้านบาท และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,560.8 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,166,549.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.7 ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,852,293.0 ล้านบาท (ร้อยละ 38.6 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 314,256.4 ล้านบาท (ร้อยละ 2.1 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,728,655.6 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 962,885.3 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 455,580.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.7 ร้อยละ 15.6 และร้อยละ 7.4 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 156,387.4 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 31,686.4 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 191,405.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 66,704.0 ล้านบาท และส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 141,611.0 ล้านบาท

รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 574,669.4 ล้านบาท ขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 20,611.2 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 295,591.9 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลสดหลังกู้สุทธิ 299,688.7 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2560

คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากมีความเห็นว่านโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังสามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม 2560 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.75 - 1.00 ต่อปี และยังมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่นต่างยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปโดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาขนาดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า

เดือนก่อนหน้า แต่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดวงเงินการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลลงจาก 80,000 ล้านยูโร ล่าสุดเดือนเมษายน 2560 ธนาคารกลางของประเทศผู้นำเศรษฐกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดียวกับต่อเดือนเป็น 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งเริ่มมีผลในเดือนเมษายน ส่วนธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังค่าเงินรูเบิลเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางฮ่องกงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน

ล่าสุดเดือนเมษายน 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 1.00 และร้อยละ 5.89 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายนยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของสถาบันรับฝากเงิน ในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัว ร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อในภาคธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนมาจากภาคธุรกิจเอกชนมากขึ้น โดยสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินเชื่อในสาขาการผลิต (การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และพลาสติก) ที่ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และสินเชื่อในสาขาค้าส่งและค้าปลีก สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอลงของสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยที่ความต้องการปรับลดลงภายหลังจากการเร่งซื้อไปในช่วงเดือนเมษายน 2559 ก่อนที่มาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ค่าเงินบาทในไตรมาสแรกของปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 35.11 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.8 ตามการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจาก (1) การส่งสัญญาณของ Fed ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและ (2) ความกังวลของนักลงทุนต่อข้อจำกัดและความล่าช้าในการดำเนินนโยบายด้านการสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)1แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.6 ตามการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินหยวนและเงินเยน สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.9

ในเดือนเมษายน 2560 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงตามความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับซีเรียและสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในยุโรป ทั้งการยุบสภาของสหราชอาณาจักรและการเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศส

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงต้นไตรมาส SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงที่นักลงทุนคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed แต่หลังจากที่ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14-15 มีนาคม และส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะต่อไปมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอีกครั้งและส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของเดือนมีนาคม และดัชนีปิด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1,575.1 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.1

ในเดือนเมษายน 2560 SET Index ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,566.3 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากความ วิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรียและคาบสมุทรเกาหลี จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตลาด ตราสารหนี้ ประกอบกับการรายงานผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ที่ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) เคลื่อนไหวตามการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ในไตรมาสแรกของปี 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงตามการคาดการณ์ในการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ประกอบกับมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มูลค่า 89.4 พันล้านบาท เทียบกับการขายสุทธิ 72.3 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า หลังจากเห็นว่าการดำเนินนโยบายในด้านการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะล่าช้าออกไป จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวลดลง 2-16 bps ยกเว้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 bps เนื่องจากฐานที่ต่ำในไตรมาสก่อนหน้า

ในเดือนเมษายน 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุน้อยกว่า 5 ปี ปรับตัวลดลง จากแรงซื้อของ นักลงทุนต่างชาติที่มีการย้ายเงินลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับซีเรียและคาบสมุทรเกาหลี ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุมากกว่า 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และภูมิภาค

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2560 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 4.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการไหลออกสุทธิ 11.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังมียอดไหลออกสุทธิในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย (1) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของกองทุน FIF (Foreign Investment Fund) (2) การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศและการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และ (3) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (468.1 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 9.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (343.4 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 17.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (636.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผล มาจากการเกินดุลการค้า 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 4.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ 180.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 26.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.4 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2560)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2560 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 (เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส) เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของราคาผักและผลไม้ และการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ และไข่และผลิตภัณฑ์นม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า2

หมายเหตุ: 2 ในเดือนเมษายน 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 รวม 4 เดือนแรกของปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก3

หมายเหตุ: 3 ในเดือนเมษายน 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 รวม 4 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสแรกของปี 2560

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกของปี 2560 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 53.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 32.51 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดโอมานและดูไบ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ร้อยละ 7.9

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็น ค่อยไปของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยใน ไตรมาสแรกของปี 2560 ความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปเฉลี่ย 13.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 13.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 12.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 12.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ (2) การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกของปี 2560

ในไตรมาสแรกของปี 2560 เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีนและการปรับตัวดีขึ้นของประเทศสำคัญอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ส่งผลให้การค้าโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ฟื้นตัว

การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีความชัดเจนมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งการว่างงานอยู่ในระดับต่ำและอัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้น และส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่สามในรอบ 9 ปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางกลุ่มประเทศยูโรโซนที่เริ่มปรับลดขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์ แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยสำคัญๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่ากับไตรมาสก่อนหน้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ของอัตราเงินเฟ้อ ความแตกต่างในทิศทางนโยบายการเงินส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรกปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ แต่มีความผันผวนตลอดทั้งไตรมาสตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ ความวิตกกังวลต่อผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมทั้งการคาดการณ์ทิศทางและความเชื่อมั่นต่อนโยบายของสหรัฐฯ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 1.9 (Advance estimate) ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการลดลงของสินค้าคงคลัง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจขุดเจาะและสำรวจน้ำมัน และการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ โดยอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE price index) ใน ไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ใกล้เคียงกับเป้าหมายร้อยละ 2.0 ของนโยบายการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการลดลงของอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ( FOMC ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 สู่ช่วงร้อยละ 0.75 - 1.00 เมื่อวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 ในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในปี 2551

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอตัวลงสอดคล้องกับการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและเป็นปัจจัยสนับสนุนการ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 9.5 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส และเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจในความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อท่ามกลางความไม่แน่นอนจากทิศทางการเจรจาขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของ สหราชอาณาจักร (BREXIT) แต่ปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนธันวาคม 2560

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจากการอ่อนค่าของเงินเยน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนสะท้อนจากการขยายตัวของยอดค้าปลีก และสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสแรกลดลงเป็นร้อยละ 2.9 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองโดยอยู่ที่ร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังคงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการตามมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 28 ล้านล้านเยนอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส การเร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกซึ่งกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส รวมทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต การบริโภคภาคเอกชน และขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรภายใต้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ในขณะที่การดำเนินมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกส่งผลให้เสถียรภาพภาคเศรษฐกิจต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,009.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และส่งผลให้เงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ในขณะที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงและไต้หวันจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามราคาอาหารและราคาบริการสาธารณูปการ โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 2.6 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 2.4 ร้อยละ 2.9 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออก และการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นตามระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์

4. เศรษฐกิจโลกในปี 2560

เศรษฐกิจโลกในปี 2560 ในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งการเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเสถียรภาพภาคต่างประเทศของจีนและการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขทางการเมืองในยุโรปหลังการเลือกตั้งฝรั่งเศส ในขณะที่การปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าและราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวและขยายตัวของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก

รวมทั้งปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2559 โดยเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ เข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่และแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อในประเทศสำคัญอื่น ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรปและประเทศสำคัญอื่น ๆ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อสามารถกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน และมีความเป็นไปได้ที่บางประเทศจะเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี แนวโน้มดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างช้า ๆ

ในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2559 แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะชะลอลงจากปัจจัยชั่วคราวและความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์จะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้าใกล้เป้าหมายทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะภาระหนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ (Disposable Income) ที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี สินเชื่อครัวเรือนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6 การเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์และที่อยู่อาศัย และอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 9 ปีและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งอาจเริ่มพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการถือครองสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อให้การดำเนินนโยบายทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางสหรัฐฯ

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสมาชิกที่เริ่มฟื้นตัวตามความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นหลังการเลือกตั้งฝรั่งเศส การฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้การว่างงานลดลงอย่างช้า ๆ และชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายของนโยบายการเงิน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางเริ่มปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการกลับสู่เป้าหมายของเงินเฟ้อจะมีความต่อเนื่องท่ามกลางความ ไม่แน่นอนของผลกระทบจากการเจรจาเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมทั้งเงื่อนไขทางการเมืองและผลการเลือกตั้งในเยอรมนีและอิตาลี แม้กระนั้นก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปอาจเริ่มพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินหากปัจจัยเสี่ยงต่อความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลดลงและอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2559 โดยมีแรงสนับสนุนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคครัวเรือนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการลดลงของอัตราการว่างงาน เช่นเดียวกับอุปสงค์ภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่แดนบวกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำและยังไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินได้ในปี 2017 เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาตรการทางการเงินโดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ไว้ที่ระดับเดิม

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมาตรการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ รวมทั้งการใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น

ความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน

นับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ (Hard landing) ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา ควบคู่กับการลดวงเงินดาวน์ให้กับผู้ซื้อบ้านเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ของจีนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งจะเห็นได้จากราคาที่อยู่อาศัยในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.8 อย่างไรก็ตาม ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ได้แก่ เทียนจิน ปักกิ่ง เจียงซู เซี่ยงไฮ้ และกวางตุ้ง ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยนอกเขตเมืองสำคัญยังมีจำนวนหน่วยตกค้างจำนวนมาก และราคาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและปรับตัวลดลงในบางเมือง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลจีนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะฟองสบู่ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และอาจนำมาสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานส่งผลให้เกิด การเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยอาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงินภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความต้องการเพื่ออยู่อาศัยอย่างแท้จริง และหากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดการปรับฐานลดลงของราคาในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวอาจนำมาสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในระบบการเงิน โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยใช้มาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผ่านการดำเนินมาตรการควบคุมการซื้อขายที่เข้มงวดเพื่อลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองใหญ่ อาทิ การเพิ่มวงเงินดาวน์ขั้นต่ำและการควบคุมการถือครองสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ควบคู่กับมาตรการเร่งระบายที่อยู่อาศัยที่มีหน่วยตกค้างจำนวนมากนอกเขตเมือง ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์คลี่คลายลง ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มเป็นช่วงขาขึ้นส่งผลให้ช่องว่างในการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่า เศรษฐกิจฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.5 ในปี 2559 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2559 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตรหลังจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัว ร้อยละ 5.4 ร้อยละ 4.6 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 6.0 เทียบกับร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.2 ร้อยละ 6.9 และร้อยละ 6.2 ในปี 2559 ตามลำดับ

แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลสำคัญๆ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ความคืบหน้าใน การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (BREXIT) การคาดการณ์ของนักลงทุนและทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ ความคืบหน้าและทิศทางการดำเนินนโยบายที่สำคัญ ๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ การปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน และ การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งและเงื่อนไขทางการเมืองในยุโรปในช่วงที่เหลือของปี 2560 และในปี 2561

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560

เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ และมีฐานการขยายตัวที่กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีของ ฐานรายได้จากการส่งออก (2) การลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น (3) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตในภาคเกษตรและการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกร (4) รายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นและ (5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะลดลงจากปี 2559 ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางการดำเนินนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก รวมทั้งความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสกุลสำคัญ ๆ

ปัจจัยสนับสนุน

1) การส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 และร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดส่งออกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 44.1 ในขณะที่เศรษฐกิจจีนที่มีสัดส่วนในตลาดส่งออกร้อยละ 12.7 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีสัดส่วนในตลาดส่งออกรวมกันประมาณร้อยละ 10.6 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตรหลังจากผลกระทบจากภัยแล้งสิ้นสุดลง เมื่อรวมกับราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐม ในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

2) การขยายตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2560 ที่ยังมีวงเงินสำหรับการเบิกจ่ายใน ครึ่งหลังของปีงบประมาณร้อยละ 63.4 ของวงเงินงบประมาณ (2) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท ที่ยังมีวงเงินคงเหลือ 189,889.6 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังปีงบประมาณ 2560 (3) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,900,000 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายลงทุน 667,000.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ซึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 (ต.ค. - ธ.ค. 60) (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2560 วงเงิน 580,980.0 ล้านบาท และการเบิกจ่ายมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2559 วงเงิน 1,383,939 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว 8 โครงการวงเงิน 330,335 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 2 โครงการ และ 4 โครงการ ในต้นปีและปลายปี 2559 ตามลำดับ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม 895,758 ล้านบาท

ความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2559 โครงการส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมโครงการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีและมีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างเพียง 2 โครงการ วงเงินรวม 27,868 ล้านบาท ต่อมาในไตรมาสที่สามของปี 2559 จำนวนโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 4 โครงการ วงเงินรวม 45,472 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประกวดราคาและลงนามในสัญญา 9 โครงการ วงเงิน 487,775 ล้านบาท อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 3 โครงการ วงเงิน 175,881 ล้านบาท และขั้นตอน การเตรียมโครงการและการเจรจา 4 โครงการ วงเงิน 247,201 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟไทย - จีน และไทย-ญี่ปุ่น) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 แม้จำนวนโครงการที่เข้าสู่การก่อสร้างและโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมโครงการและการเจรจาจะมีจำนวนเท่าเดิม แต่การพิจารณาอนุมัติโครงการมีความคืบหน้าไปมาก โดยจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีลดลงเป็น 1 โครงการ วงเงิน 131,004 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนโครงการที่อยู่ในระหว่างการประมูลและลงนามในสัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 11 โครงการ วงเงิน 532,651 ล้านบาท

ล่าสุดมีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว 8 โครงการ วงเงิน 330,335 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการประกวดราคาและลงนามในสัญญาจำนวน 7 โครงการ วงเงิน 247,068 ล้านบาท รวมทั้งมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ วงเงิน 131,004 ล้านบาท และขั้นตอนการเตรียมโครงการและเจรจา 4 โครงการ วงเงิน 247,201 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟไทย - จีน และไทย - ญี่ปุ่น)

นอกจากนั้น ยังมีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงิน 895,758 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการก่อสร้างในปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 54,799 ล้านบาท ในด้านการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 แห่ง มีการกำหนดกิจการเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ในการลงทุน การจัดตั้ง OSS กำหนดพื้นที่แล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งมีนักลงทุนขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 40 โครงการ วงเงินรวม 8,542 ล้านบาท เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีโครงการเร่งด่วนปี 2560 จำนวน 48 โครงการ วงเงิน 6,993 ล้านบาท และวงเงินโครงการพัฒนาภายใต้แผนบูรณาการปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 3,305 ล้านบาท นอกเหนือจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ซึ่งบางส่วนอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 และความคืบหน้าของการดำเนินโครงการจะเร่งตัวขึ้นภายหลังจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้

3) การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ซึ่งเริ่มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2559 และขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2560 โดยการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.1 และร้อยละ 20.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ -0.1 และร้อยละ 11.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 และร้อยละ 2.4 และร้อยละ 6.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเริ่มปรับตัว ในทิศทางที่ดีขึ้นของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายของประชาชนในระดับเศรษฐกิจฐานราก ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตาม (1) ข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2560 อยู่ที่ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่า 8,323 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งแนวโน้มปริมาณน้ำฝนซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 (2) การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

4) การขยายตัวของรายรับจากการท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก ของปี 2560 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดจีน โดยเฉพาะรายรับจากนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย (สัดส่วนร้อยละ 8.0) อเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 4.4) และฝรั่งเศส (สัดส่วน ร้อยละ 4.1) ที่ขยายตัวสูงร้อยละ 32.4 ร้อยละ 13.1 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจากจีน (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 25.8) ยังหดตัวร้อยละ 4.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง ร้อยละ 19.5 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวจะขยายตัวเร่งขึ้นตาม (1) การปรับตัวดีขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดจีน โดยเฉพาะรายรับจากนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย อเมริกา และฝรั่งเศส ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ

5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การสิ้นสุดลงของข้อกำหนดการถือครองรถยนต์ 5 ปีภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สิทธิ์จากมาตรการดังกล่าวจำนวน 1.12 ล้านคัน เริ่มโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ได้มากขึ้น (2) ภาระหนี้ที่เกิดจากการซื้อรถยนต์ภายใต้มาตรการดังกล่าวเริ่มลดลง สอดคล้องกับการลดลงของสัดส่วนสินเชื่อคงค้างของ ภาคครัวเรือนต่อ GDP อย่างช้าๆ จากร้อยละ 81.2 ณ สิ้นปี 2558 เป็นร้อยละ 79.9 ณ สิ้นปี 2559 เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ในภาคเกษตรและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2560 คาดว่าจะทำให้การผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าการผลิตเพื่อการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ บางประเทศ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) กำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน นับจากปี 2556 - 2559 ปริมาณการส่งออกอยู่ในภาวะทรงตัวและปรับตัวลดลงในบางปี ทำให้การใช้กำลังผลิตยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.2 ในปี 2556 2557 และ 2558 ตามลำดับ และยังคงขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 0.4 ในปี 2559 แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปี 2560 แต่ยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากนัก ทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูงและยังเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องในปีนี้ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสแรก แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ การส่งออก และเศรษฐกิจโลกที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น ตามลำดับ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมบางสาขาที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 70 และกิจการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีการลงทุนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

2) การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มที่จะผันผวน แม้ว่าความเสี่ยงจากเงื่อนไขทางการเมืองในยุโรปจะลดลงตามผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2560 การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลสำคัญๆ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ความคืบหน้าในการเจรจา BREXIT การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งความต่อเนื่องในการฟื้นตัวและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน และการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญ เช่น เยอรมนีในเดือนกันยายน 2560 และอิตาลีในช่วงต้นปี 2561 เป็นต้น

จับตามองยุโรปปี 2560 ภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์

ในปี 2560 สหภาพยุโรปอยู่ท่ามกลางพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองภายใต้ การเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศสำคัญ ซึ่งกำลังถูกท้าทายด้วยกระแสการต่อต้านการรวมตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยเช่นกัน เนื่องจากขนาดทางเศรษฐกิจและความสำคัญของสหภาพยุโรปต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญและควรจับตามองตลอดช่วงปี 2560 ไปจนถึงปี 2561 ได้แก่

พลวัตการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ "ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด"

1) สหราชอาณาจักร- การเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะรูปแบบความสัมพันธ์ ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากข้อสรุปการประชุม EU Summit เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 ได้แสดงจุดยืนสำคัญคือ การยึดข้อตกลงทางการเงินของ UK ใน EU และสิทธิพลเมืองของ EU ก่อนการเริ่มกระบวนเจรจาฯ ทั้งนี้ EU จะคงหลักการสำคัญคือ ความเป็นเอกภาพของ EU เป็นสำคัญและจะไม่มีการแยกเจรจาเป็นรายประเทศ

2) กรีซความสามารถในการชำระหนี้ 7 พันล้านยูโรยังคงเป็นที่น่ากังวล เนื่องจากมีแนวโน้มอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ - ทางการเงินจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเดือนกรกฎาคม 2560 จะครบกำหนดชำระหนี้จำนวน 7 พันล้านยูโรให้แก่สหภาพยุโรป

3) อิตาลีความเสี่ยงในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปยังคงมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรค - การเมืองขวาจัด Five Star Movement (M5S) และปัญหาระดับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลตั้งแต่ประเด็นการปฏิรูปรัฐสภาและปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังที่นำไปสู่ความนิยมการใช้เงินยูโรลดลง

4) เยอรมนีพรรค CDU/CSU ที่นำโดยนาง Angela Merkel ซึ่งเน้นย้ำถึงจุดยืนการดำรงอยู่ของการรวมตัวกันของสหภาพ - ยุโรป มีแนวโน้มที่จะยังคงชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป โดยผลจากการสำรวจคะแนนนิยมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 พรรค CDU/CSU ยังคงได้รับคะแนนนิยมสูงสุด แม้ว่าจะลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2556 เนื่องจากการก่อตัวของกระแสต่อต้านผู้อพยพในเยอรมนี

5) สกอตแลนด์มีแนวโน้มจัดทำประชามติเพื่อขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร หลังจากเคยจัดทำมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี - 2557 อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอดูท่าทีของสหราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผลประชามติครั้งก่อนฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านการแยกตัวออกจาก UK มีระดับใกล้เคียงกัน กอปรกับในการออกเสียง Brexit ประชาชนชาวสกอตส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการอยู่ร่วมกับ EU ซึ่งแตกต่างจากชาวอังกฤษ ดังนั้นการจัดทำประชามติในครั้งถัดไปจึงจำเป็นต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งถึงผลที่ออกมา

3) ทิศทางและความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบทางตรงผ่านการตรวจสอบและดำเนินการกับประเทศที่สหรัฐฯ มีความเห็นว่าดำเนินนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าในตลาดโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ รวมทั้งระดับความร่วมมือและขีดความสามารถของกลุ่ม OPEC ในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลก โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณการผลิตในอเมริกาเหนือ

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2560

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.6 ในปี 2559 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยในไตรมาสแรกของปี 2560 เศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ ยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เศรษฐกิจอินเดีย และเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาสำคัญอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถชดเชยแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจจีน

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 อยู่ในช่วง 35.0 - 36.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ย 35.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 และเป็นการปรับจากสมมติฐาน 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเงินบาทในช่วง 4 เดือนแรกอยู่ที่เฉลี่ย 34.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางและความคืบหน้าของนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและซีเรีย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี คาดว่าในระยะที่เหลือของปี ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 47.0 - 57.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย 41.4 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) การบรรลุข้อตกลงเพื่อลดกำลัง การผลิตน้ำมันดิบของประเทศในกลุ่มโอเปกและกลุ่มนอกโอเปก โดยสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ถึง ร้อยละ 99 และร้อยละ 64 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2560) ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามข้อตกลงที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (2) ความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก (3) ความเสี่ยงจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบีย อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลให้การปรับเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้าๆ ได้แก่ (1) ปริมาณสต็อกน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือโดยเฉพาะผู้ผลิต Shale oil ของสหรัฐฯ สะท้อนจากจำนวนแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 877 แท่น (ข้อมูล ณ 5 พฤษภาคม 2560) (3) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ (4) แนวโน้มการชะลอตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 - 2.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากสมมติฐานร้อยละ 1.2 - 2.2 ในการประมาณการครั้งก่อนโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้ฐานราคาส่งออกในปี 2559 ลดลงจากเดิม ด้านราคานำเข้า ในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 - 4.5 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 2.7 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากสมมติฐานร้อยละ 3.0 - 4.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบอุตสาหกรรมในตลาดโลกส่งผลให้ราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จาก 1.76 ล้านล้านบาท ในปี 2559 เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุน การขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ (1) แนวโน้มการขยายตัวสูงต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (long-stay tourists) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรป รัสเซีย และสหรัฐฯ (2) การขยายท่าอากาศยานที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา ทำให้รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น (3) การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ (4) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความสงบ (5) ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในยุโรป ทำให้นักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น และ (6) การดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 94.8 ของวงเงินงบประมาณ เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน (โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.5 และรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 80) (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 63.4 ลดลงจากสมมติฐานร้อยละ 65.0 ในการประมาณครั้งก่อน เนื่องจากการเบิกจ่ายในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้รวมทั้งปรับเปลี่ยนสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนจากร้อยละ 30 และร้อยละ 70 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 56 และร้อยละ 44 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ตามลำดับ (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 78.0 ปรับลดจากสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 80.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามข้อมูลการเบิกจ่ายในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2560 ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (4) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 78.0 (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการน้ำและถนน และอื่นๆ ประมาณ 10,412.7 ล้านบาท ลดลงจาก 49,503.5 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559 และ (6) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. - ธ.ค. 60) ร้อยละ 32.0 ของวงเงินงบประมาณ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2560

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.3 และ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 8.9 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 15 พฤษภาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.3 - 3.8 เป็นการปรับลดช่วง การประมาณการให้แคบลงจากร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 รวมทั้ง มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสแรกและ การปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการ ที่สำคัญๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.3 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.3 ลดลง ในขณะเดียวกันอัตราการใช้กำลังการผลิตและการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.8 ลดลง

2) การปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสแรกและสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกและราคานำเข้าทำให้มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน (2) การปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จากเดิมร้อยละ 80 และร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 78 และร้อยละ 63.4 รวมทั้งการปรับสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายประจำและสัดส่วนรายจ่ายลงทุนในกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 จากเดิมร้อยละ 30 และร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 56 และร้อยละ 44 ตามลำดับ ส่งผลให้โครงสร้าง การขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐเปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ใกล้เคียงกับการขยายตัวในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการร้อยละ 2.8 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการขยายตัวของฐานรายได้ในภาคเกษตรและภาคการส่งออกที่สูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2559 และปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายประจำในกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 จากร้อยละ 30 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 56 ในการประมาณการครั้งนี้

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการการลงทุนภาคเอกชน จากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นการขยายตัว ร้อยละ 2.0 ในการประมาณการครั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกยังปรับตัวลดลงและอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 65 - 70 เริ่มขยายการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยกระตุ้นการลงทุนของโครงการที่ขอรับและได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2557 - 2559 ให้มีการลงทุนเร่งเร็วขึ้น สำหรับการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 9.9 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 14.4 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจและสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายลงทุนในกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2560 จากร้อยละ 80 และร้อยละ 70 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 78 และร้อยละ 44 ในการประมาณการครั้งนี้ ตามลำดับ โดยการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้น รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกสินค้าจากร้อยละ 1.2 - 2.2 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 1.5 - 2.5 และเป็นการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกตามข้อมูลจริงในไตรมาสแรกที่สูงกว่าการคาดการณ์ เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2559

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.7 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าเนื่องจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาสินค้านำเข้าจากร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 3.5 - 4.5 ในการประมาณการครั้งนี้ รวมทั้งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการนำเข้าสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าจริงในไตรมาสแรกที่สูงกว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าทั้งปีในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการ คาดว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัว ร้อยละ 3.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในปี 2559

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 31.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 35.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 และเป็นการปรับลดลงจากการเกินดุล 32.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่า จะเกินดุล 38.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ ร้อยละ 8.9 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 9.4 ต่อ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ

6) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากช่วงร้อยละ 1.2 - 2.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากข้อมูลในไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยเป็นผลจากดัชนีราคาในหมวดอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก การลงทุนภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงและ เร่งขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดสำคัญๆ และความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 ยังคงต้องให้ความสำคัญกับ

1) การใช้จ่ายของรัฐบาลและการดำเนินการโครงการลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 94.8 (2) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 63.4 (3) การเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 78.0 (4) การเบิกจ่ายจากงบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 78.0 และ (5) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32.0 ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามโครงการที่สำคัญๆ ของภาครัฐให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ ทั้งโครงการสืบเนื่องภายใต้แผนปฏิบัติการ ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2559 วงเงิน 1,383,939 ล้านบาท โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2560 วงเงิน 895,758 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยะเร่งด่วน ในปี 2560 วงเงิน 6,993 ล้านบาท และโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

2) การสนับสนุนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 5.0 โดย (1) การแก้ปัญหาและสนับสนุนให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกระจายตัวเป็น วงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตและส่งออกโดยธุรกิจ SMEs (2) การติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดสำคัญ ๆ โดยเฉพาะมาตรการตรวจสอบและตอบโต้ประเทศที่ดำเนินนโยบายทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ (3) การเพิ่มส่วนแบ่งในประเทศที่เป็นตลาดเดิม ซึ่งเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน (9) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.6 และภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าในตลาดโลก (4) การกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพื่อเพิ่มการส่งออกและลดความเสี่ยงจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดหลัก และ (5) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเป้าหมายสำคัญ ๆ อย่าง ครบวงจร

3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงที่การผลิตฟื้นตัว โดยเฉพาะการเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิตในตลาด (2) การส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและจำหน่ายผลผลิตจากโครงการสู่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เกษตรกรในราคาผลผลิต และนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตโดยตรงจัดสรรให้กับเกษตรกรควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปผลผลิตของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โดยรัฐบาลอาจพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นเพื่อให้เกิดการขายตรงจากกลุ่มเกษตรกรสู่มือผู้บริโภค (3) การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตพืชที่มีมูลค่าสูงขึ้น (4) การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือทางตรงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์ด้านราคาพืชผลสำคัญๆ บางรายการ ที่อาจปรับตัวลดลงตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิต และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในบางรายการ รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยและลูกจ้างในสาขาการผลิตที่ยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว

4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การส่งเสริม การขยายตัวของปริมาณการส่งออกเพื่อเร่งรัดการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต (2) การดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งปี 2559 และปี 2560 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน (3) การกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 จำนวน 1,688 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 861.3 พันล้านบาท ให้มีการลงทุนจริงในปี 2560 (4) การดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาและบริการสำหรับอนาคตการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม กรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter: IHQ) และกรอบการจัดตั้งบริษัทการค้าข้ามประเทศ (International Trading Center: ITC) และ (5) การดำเนินการและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

5) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง (2) การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น (3) การสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง (4) การสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และ (5) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560 1

                                                               ข้อมูลจริง                ประมาณการ ปี 2560
                                                         ปี 2558       ปี 2559     ณ 20 ก.พ. 60       ณ 15 พ.ค. 60
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)                           13,672.9     14,366.6         15,150.5           15,228.6
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                                203,356.3    212,980.2        223,941.8          225,096.1
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                      399.2        407.1            420.8              435.1
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)                         5,937.0      6,035.1          6,220.6            6,431.3
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                               2.9          3.2          3.0-4.0            3.3-3.8
การลงทุนรวม (CVM, %)                                         4.4          2.8              5.3                4.4
ภาคเอกชน (CVM, %)                                          -2.2          0.4              2.5                2.0
ภาครัฐ (CVM, %)                                             29.3          9.9             14.4               12.6
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                                   2.2          3.1              2.8                3.0
การอุปโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                                   3.0          1.7              2.6                3.2
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                        0.7          2.1              2.6                2.9
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                       214.1        214.1            220.3              221.8
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)2/                                  -5.6          0.0              2.9                3.6
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/                                 -1.5          0.4              1.2                1.6
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                        0.0         -1.4              3.7                3.5
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                       187.2        178.4            188.2              190.8
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)2/                                 -10.6         -4.7              5.5                7.0
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/                                  0.3         -2.1              2.0                3.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                                 26.8         35.8             32.2               31.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                            32.1         46.8             39.5               38.8
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                                      8.1         11.5              9.4                8.9
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                              -0.9          0.2          1.2-2.2            0.8-1.3
GDP Deflator                                                0.6          1.8          1.5-2.5            1.5-2.5

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 15 พฤษภาคม 2560
หมายเหตุ:  1/เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
          2/ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ