บทสรุปสำหรับผู้บริหาร แรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2556

ข่าวทั่วไป Friday November 22, 2013 09:48 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งผลการสำรวจในป 2556 สรุปสาระ สำคัญ ได้ดังนี้

1. จำนวนแรงงานนอกระบบ

ผลการสำรวจในปี 2556 พบว่า ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 25.1 ล้านคน หรือร้อยละ 64.2 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.0 ล้านคน หรือร้อยละ 35.8 สำหรับแรงงาน นอกระบบเมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า เพศชาย มีจำนวนมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย คือเพศชาย 13.8 ล้านคน หรือร้อยละ 55.0 และเพศหญิง 11.3 ล้านคน หรือร้อยละ 45.0 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบทำงานอยูใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 40.9 รองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 21.4 ภาคกลางร้อยละ 18.8 ภาคใต้ร้อยละ 13.8 และกรุงเทพมหานคร มีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุดร้อยละ 5.1

2. ระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบ

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุด ประมาณ 15.8 ล้านคน หรือร้อยละ 63.0 รองมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 7.3 ล้านคน หรือร้อยละ 29.0 และระดับอุดมศึกษา 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 7.6 จะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงาน ในระบบ ดังนั้นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่แรงงานนอกระบบเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น

3. การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบ

เมื่อพิจารณาถึงประเภทการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมโดยมีจำนวนถึง 15.4 ล้านคน หรือร้อยละ 61.3 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการร้อยละ 27.4 และภาคการผลิตร้อยละ 11.2 ที่เหลือไม่ทราบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

4. การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน

สำหรับการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานนอกระบบในปี 2556 มีจำนวน 4.0 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุดร้อยละ 66.6 รองลงมาเป็น การพลัดตกหกล้มร้อยละ 17.5 การชนและกระแทกร้อยละ 5.9 ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกร้อยละ 3.8 ได้รับสารเคมีเป็นพิษร้อยละ 2.9 อุบัติเหตุจากยานพาหนะร้อยละ 2.5 และไฟฟ้าช็อตร้อยละ 0.4

เมื่อพิจารณาแรงงานนอกระบบที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุในปี 2556 พบว่า มีจำนวนเฉลี่ยวันละ 11,100 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2555 (เฉลี่ยวันละ 10,927 คน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นนายจ้างควรเข้ามาดูแลและสร้างความปลอดภัยจากการทำงานให้แก่แรงงานนอกระบบมากขึ้น

5. ปัญหาของแรงงานนอกระบบ

ผลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบต่อปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่า ปัญหาจากการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ปัญหาการเกี่ยวกับค่าตอบแทน ร้อยละ 50.2 รองลงมาเป็นการทำงานหนักร้อยละ 22.8 และงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 17.3 ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้ เป็นต้น

สำหรับปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 49.1 มีฝุ่น ควัน กลิ่นร้อยละ 25.1 และมีแสงสว่างไม่เพียงพอร้อยละ 16.8

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ ได้รับสารเคมีเป็นพิษร้อยละ 68.0 เครื่องจักร เครื่องมือ ที่เป็นอันตรายร้อยละ 16.3 และได้รับอันตรายต่อระบบหู / ระบบตาร้อยละ 5.1

6. เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแรงงานนอก ระบบในช่วงปี 2551-2556

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ ปี 2551 จนถึง ปี 2556 พบว่า สัดส่วนผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยในช่วง 2551 - 2552 มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 63.7 และ 63.4 ในปี 2553 ลดลงเป็นร้อยละ 62.3 แต่ในปี 2554 - 2556 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.6, 62.7 และ 64.3 ตามลำดับ

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ตามลำดับ

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2551 ถึงปี 2556 แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษามีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะที่ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าระดับการศึกษาของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในกลุ่มของผู้มีการศึกษาไม่สูงนัก

และเมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรมในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2556 สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 37.5 - 40.0 ในขณะที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 60.0 - 62.5 โดยในปี 2552 - 2553 แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนลดลง แต่ในปี 2554 และ 2555 เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กนอย และกลับมาลดลงอีกครั้งในปี 2556

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ