สรุปผลเบื้องต้น การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2556

ข่าวทั่วไป Friday November 22, 2013 10:24 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2556 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม 2556) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำสรุปผลการสำรวจเบื้องต้นเพื่อนำเสนอข้อมูล ในระดับหนึ่งก่อนที่รายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2556) จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 26,000 ครัวเรือนซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญ ได้ดังนี้

1. รายได้ของครัวเรือน ปี 2556

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,403 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 73.5 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือน ร้อยละ 40.9 กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจร้อยละ 18.5 และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรร้อยละ 14.1 และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐร้อยละ 10.5 รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/สินค้า และบริการต่างๆร้อยละ 13.1

2. ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ปี 2556

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 19,259 บาท ค่าใช้จ่ายร้อยละ 34.1 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่ม ที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.1) รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะร้อยละ 20.3 ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 19.2 ของใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้าร้อยละ 5.6 ใช้ในการสื่อสารร้อยละ 3.1 ใช้เพื่อการศึกษา การบันเทิง/การจัดงานพิธี และค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาลใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.7 1.6 และ 1.5 กิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.1 ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่นค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/ หวย ดอกเบี้ย พบว่ามีการใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 11.8

3. หนี้สินของครัวเรือน ปี 2556

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้สินมีร้อยละ 54.4 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 159,492 บาท ต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 78.0) คือซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 39.4 ใช้ในการอุปโภคบริโภคร้อยละ 37.1 และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ พบว่าเป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตรร้อยละ 13.0 และใช้ทำธุรกิจร้อยละ 8.1

4. ครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบ และนอกระบบ ปี 2556

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 พบว่าส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบ โดยครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 91.6 และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 3.8 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 4.6 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบ สูงกว่านอกระบบถึง 50 เท่า(156,356 บาท และ 3,136 บาท ตามลำดับ)

5. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ของครัวเรือน รายภาค ปี 2556

เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 44,129 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ 33,095 บาทและ 283,560 บาท ตามลำดับ และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 75.0 และพบว่าครัวเรือนในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 79.1 ซึ่งจะทำให้เกิดการออม หรือชำระหนี้ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับครัวเรือนในภาคเหนือที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่าย ต่อรายได้ต่ำสุด คือร้อยละ 72.0 ซึ่งสามารถเก็บออม และมีเงินชำระหนี้ได้มากกว่าภาคอื่น ๆ

6. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ของครัวเรือน ตามสถานะทางเศรษฐสังคม ของครัวเรือน (ตามอาชีพ) ปี 2556

เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 56,553 บาท รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต และเสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการ 33,671 22,814 และ 22,384 บาท ตามลำดับ และรายได้ต่ำสุดใกล้เคียงกันคือครัวเรือนประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์ฯ และครัวเรือนผู้ไม่ได้ปฏิบัติงานเชิงเศรษฐกิจ 15,210 และ 15,123 บาท ตามลำดับ และพบว่าครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน

7. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ต่อรายได้ ปี 2547 - 2556

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ รายได้เพิ่มจาก 14,963 บาท เป็น 25,403 บาท และค่าใช้จ่ายฯ เพิ่มจาก 12,297 บาท เป็น 19,259 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ในปี 2556 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 6,144 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 1,982 บาทต่อคน (ขนาดของครัวเรือน เท่ากับ 3.1) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้ เช่น ชำระค่าเช่าซื้อบ้าน/ที่ดิน เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ลดลงจากปี 2547 คือ 7.0 เป็น 5.8 เท่าในปี 2554 แต่กลับเพิ่มขึ้นมากในปี 2556 อาจสืบเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ทำให้เกิด ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตร จึงทำให้เกิดการก่อหนี้เพื่อฟื้นฟูความเสียหายดังกล่าว

8. การเปรียบเทียบอัตราร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้ และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น ปี 2547 - 2556

เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนในระหว่าง ปี 2547 - 2556 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงตามลำดับ คือ ลดลงจากร้อยละ 66.4 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 54.4 ในปี 2556 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มจาก 104,571 บาท ในปี 2547 เป็น 159,492 บาท โดยในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 มากถึงร้อยละ 18.2

9. การเปลี่ยนแปลงรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน ปี 2554 และ 2556

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราการเพิ่มที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ คือร้อยละ 5.2 และ 4.6 ต่อปีตามลำดับ ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74.9 ในปี 2554 เป็น 75.8 ในปี 2556 สำหรับหนี้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีจำนวนลดลงร้อยละ 1.3 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7

10. การเปรียบเทียบการกระจายรายได้ของครัวเรือน ปี 2554 และ 2556

ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าในปี 2556 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 47.0 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 5.9 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำ ของรายได้มีแนวโน้มลดลง คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลงร้อยละ 1.7 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (กลุ่มที่ 2 - 4) มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 5 กลุ่มมีค่าลดลงเล็กน้อย คือ 0.376 ในปี 2554 เป็น 0.370 ในปี 2556

สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 7,226 บาท ในปี 2554 เป็น 8,154 บาท ในปี 2556 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 21,953 เป็น 24,340 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,896 เป็น 1,955 บาท

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ