สปสช.เผยบัตรทอง'7ปี'ค่าใช้จ่ายลด1%ไม่ทำรพ.ล้มละลาย

ข่าวทั่วไป Thursday June 24, 2010 15:00 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

'บัตรทอง'ไม่ทำให้ รพ.ล้มละลาย สปสช.ชี้ข้อมูล 7 ปีเงินสดคงเหลือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หักลบแล้วสอดคล้องกับหนี้สินของโรงพยาบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยลดลงร้อยละ 1 สะท้อนให้เห็นความพึงพอใจจากผู้รับและผู้ให้

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีประชาชนกว่า 47 ล้านคน เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 รัฐบาลในแต่ละสมัยได้จัดงบฯหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 224 และจากข้อมูลการเงินหน่วยบริการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าโรงพยาบาลสังกัดสธ. มีแนวโน้มเงินสดคงเหลือในปี 2545-2552 สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2545 มีเงินสดคงเหลือ 14,605 ล้านบาท และในปี 2552 มีคงเหลือ 42,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่หนี้สินของโรงพยาบาลเหล่านี้ ปี2552 พบประมาณ 16,000 ล้านบาท เมื่อหักลบแล้วยังถือว่าสอดคล้อง

"ข้อมูลนี้สะท้อนว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลทั้งระบบเป็นหนี้ และประสบภาวะล้มละลาย เนื่องจากมีเงินเข้าระบบมากขึ้น แม้จะมีรายจ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถจัดการได้" นพ.วินัยระบุ

นพ.วินัยกล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนนั้นจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลงโดยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพในปี2533-2544 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนเทียบกับรายได้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ8.17 แต่หลังจากมีระบบในปี 2545-2549 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงเหลือร้อยละ 1.27 เท่านั้น ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้สะท้อนผ่านการสำรวจความพึงพอใจจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งสำรวจตั้งแต่ปี 2546-2552 พบว่าปี 2552 ในส่วนของผู้รับบริการ มีความพึงพอใจร้อยละ 89.3 เพิ่มจากปี 2545 ที่มีความพึงพอใจร้อยละ 83 สำหรับผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ60.3 เพิ่มจากปี 2545 ที่มีความพึงพอใจร้อยละ 45.6

เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 มีการใช้บริการ ผู้ป่วยนอก140.7 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ32 และจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยในปี 2552 จำนวน 5.21 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 23 แสดงว่าประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะ 8 ปีแรกของการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพนั้นสปสช.มีการดำเนินการเรื่องการเข้าถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น มีเครือข่ายบริการโรคหัวใจ62 แห่ง จัดตั้งเครือข่ายเคมีบำบัด เครือข่ายการส่งต่อ-ส่งกลับบริการโรคมะเร็ง ช่องทางด่วนรับบริการโรคหลอดเลือดสมอง การให้ยาต้านไวรัสผู้ติดเชื้อเอชไอวี การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น การจัดทำโครงการโรคเฉพาะ เช่น การผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดข้อเข่าเทียม และการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย

รหัสข่าว: B-100503020059

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ