สศก. แจงผลศึกษาการผลิตปาล์มกับก๊าซเรือนกระจก แนะเกษตรกรปรับพฤติกรรมจัดการสวน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 18, 2013 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี นำทีมบูรณาการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตทั่วประเทศ ศึกษาภาวะการปล่อยและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย จากเกษตรกรตัวอย่าง 1,157 ราย เผยการผลิตปาล์มทะลายมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซต์ 44.44 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด แนะเกษตรกรจัดการสวนปาล์มให้เหมาะสมตามหลักวิชาการ เน้นคัดเลือกต้นกล้าปาล์มพันธุ์ดีและสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่

นายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการบูรณาการร่วมกับคณะนักวิจัยเชิงบูรณาการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขตทั่วประเทศ เพื่อศึกษาภาวะการปล่อยและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย จากเกษตรกรตัวอย่าง 1,157 ราย พบว่า กระบวนการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตปาล์มทะลายของประเทศไทย จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซต์ 44.44 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด โดยแบ่งเป็นเกิดจากกระบวนการเพาะปลูก 42.56 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด และเกิดจากกระบวนการขนส่งปัจจัยการผลิต 1.88 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด

สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากกระบวนการเพาะปลูก ได้แก่ การได้มาซึ่งต้นพันธุ์ การใส่ปุ๋ย สารเคมี เป็นต้น โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซต์คิดเป็น 42.56 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด คิดเป็นร้อยละ 96 จากการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ปุ๋ยอนินทรีย์ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ สารเคมี และต้นพันธุ์ ตามลำดับ ด้านกระบวนการขนส่งปัจจัยการผลิต มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอน ไดออกไซต์ 1.88 กิโลกรัมต่อตันปาล์มทะลายสด คิดเป็นร้อยละ 4

ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาการปลูกปาล์มน้ำมันของไทย เกษตรกรควรคัดเลือกต้นกล้าปาล์มพันธุ์ดีและเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก และเพื่อได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มสดที่สุกตามกำหนดเวลาเพื่อลดความสูญเสียอัตราการให้น้ำมันปาล์มดิบ และควรบรรทุก ขนส่งปัจจัยการผลิตและผลผลิตให้เต็มอัตราเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง โดยเกษตรกรต้องนำทางใบปาล์มและดินไปตรวจวิเคราะห์โรคและความต้องการธาตุอาหารเป็นประจำทุกปี เพื่อบำรุงรักษาได้ตรงความต้องการของพืชและดิน และเกษตรกรควรปรับพฤติกรรมการเลือกใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่ถูกต้อง ตามความต้องการของพืชในแต่ละช่วงอายุ หรือการจัดการสวนปาล์มให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ หน่วยงานวิชาการเกษตรควรมีจุดบริการหรือรถบริการเคลื่อนที่ตรวจวิเคราะห์พืชและดินสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ทั้งนี้ ปาล์มน้ำมัน ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกไปทั่วทุกภาคของประเทศ เนื่องจากมีโครงการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน (ในพื้นที่รกร้าง) โดยภาครัฐได้มีการดำเนินยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันในช่วงปี 2551-2555 เพื่อเร่งผลักดันให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน และเพิ่มผลผลิตรองรับกับยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) ซึ่งมีเป้าหมายในการทดแทนน้ำมันดีเซลฟอสซิลให้ได้ 5.97 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันปาล์มเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในปี 2555 มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 5-7 ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ร้อยละ 89 รองลงมาภาคตะวันออกและภาคกลางร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 1 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจากนโยบายของ สศก. ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อภาวะโลกร้อน การเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ทรัพยากรดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกปาล์มน้ำมันครั้งนี้ จะทำให้ฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพืชปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม ทันสมัย และครอบคลุมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วทุกภาคของประเทศต่อไป นายธวัชชัยกล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ