ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 29, 2014 16:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

1) มติ ครม. วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป) ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท (2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท (3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรในปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ และจำกัดวงเงินรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาทต่อรอบ ตามที่ กขช. มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 กุมภาพันธ์ – 15 กันยายน 2556 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 – 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 19 มกราคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,908,944 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,456,027 ตัน
  • จำนวนเงิน 351,596.634 ล้านบาท

หมายเหตุ : มติ ครม. วันที่ 29 ตุลาคม 2556 ให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์

ครั้งที่ 2 นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้ทันภายในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ เป็นกรณีพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการขอรับเงินและการจ่ายเงินเยียวยา มีดังนี้

(1) เป็นเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองเกษตรกรโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ระบุวันเก็บเกี่ยวไม่เกิน 15 กันยายน 2556 แต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันภายในระยะเวลารับจำนำที่กำหนด

(2) เป็นเกษตรกรที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ที่ระบุวันเก็บเกี่ยว 16 – 30 กันยายน 2556 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องตรวจสอบและออกหนังสือรับรองเกษตรกรให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ต่อไป

โดย ธ.ก.ส.เป็นผู้ตรวจสอบสิทธิ์ในการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 กรณียังไม่ได้

ใช้สิทธิ์ให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยเงินให้ตันละ 2,121 บาท จำกัดครัวเรือนละ

ไม่เกิน 33 ตัน

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม

โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557 ยกเว้น ภาคใต้ระว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 19 มกราคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 456,936 สัญญา
  • จำนวนตัน 3,118,816 ตัน
  • จำนวนเงิน 50,083.464 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาลดลงทั้งข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และผลผลิตบางส่วนกระทบหนาว ส่งผลให้คุณภาพผลผลิตลดลง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,301 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,479 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.23

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,904 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,931 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.34

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,949 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,009 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,994 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 45 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 713 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,260 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 712 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,282 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 455 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,843 บาท/ตัน) ราคาคงที่เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 35 บาท (14,878 บาท/ตัน)

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 379 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,364 บาท/ตัน) ราคาคงที่เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 29 บาท (12,393 บาท/ตัน)

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 461 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,039 บาท/ตัน) ราคาคงที่เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 36 บาท (15,075 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6229 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเปิดเผยว่า กัมพูชามีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ในปี 2558 โดยในปี 2556 กัมพูชาส่งออกข้าว 378,856 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 201,899 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 84 เมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ กัมพูชามีแนวโน้มส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมาย การส่งออกข้าว 1 ล้านตันภายในปี 2558 สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในปี 2553 กัมพูชาส่งออกข้าวได้ 105,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 202,000 ตัน ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็น 206,000 ตัน ในปี 2555

จากรายงานของรัฐบาล กัมพูชามีบริษัทส่งออกข้าวประมาณ 84 บริษัท ส่งออกข้าวไปยัง 16 ประเทศ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ จากข้อมูลของสหภาพยุโรป ในปี 2555/56 (ตุลาคม 2555 – พฤศจิกายน 2556) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 195,544 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับปี 2554/55 โดยข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาคิดเป็นร้อยละ 16 ของข้าวที่สหภาพยุโรปนำเข้าทั้งหมด

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวของกัมพูชาได้รับความนิยมในตลาดส่งออก โดยข้าวหอมของกัมพูชาซึ่งได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงเนื่องจากรสชาติอร่อยและสามารถส่งออก ได้มาก ในแต่ละปีกัมพูชาสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 9 ล้านตันข้าวเปลือก และส่งออกประมาณ 3 ล้านตันข้าวสาร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 กัมพูชาผลิตข้าวได้ 4.9 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 4.6 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 ความต้องการใช้ในประเทศอยู่ที่ 3.8 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกประมาณ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 975,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2555/56

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

ในปี 2556 ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ 18.44 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายภายใต้โครงการผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากร (Food Staples Sufficiency Program: FSSP) ที่กำหนดไว้ 20 ล้านตัน ประมาณ 1.56 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 8 แต่เพิ่มขึ้นจาก 18.03 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2555

สำนักงานสถิติการเกษตรฟิลิปปินส์กล่าวว่า การผลิตข้าวในปี 2556 ของฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่านในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวรายปีเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่เก็บเกี่ยวและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ลูซอนกลาง (Central Luzon) คารากา (Caraga) ซอกสก์ซาร์เกน (Soccsksargen) เขตบีโกล (Bicol Region) และเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (ARMM)

สำนักงานสถิติฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 ฟิลิปปินส์มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 4.75 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 29.69 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจาก 4.69 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 29.31 ล้านไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ1 เมื่อเทียบกับ ปี 2555 ขณะที่ ผลผลิตต่อไร่ 3.89 ตันต่อเฮคตาร์ (หรือประมาณ 0.622 ตันต่อไร่) เพิ่มขึ้นจาก 3.84 ตันต่อเฮคตาร์ (หรือประมาณ 0.614 ตันต่อไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการหันมาใช้พันธุ์ผสมและพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงแพร่หลายมากขึ้น มีทรัพยากรน้ำเพียงพอ การใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น และการระบาดของโรคและศัตรูพืชอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ 10.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 10.14 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 และในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2556 ผลิตข้าวได้ 7.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.54 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขณะที่ ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2557 คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ 8.43 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 7.99 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งภายใต้โครงการผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากร (FSSP) ฟิลิปปินส์ต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้ 21 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ14 จากปริมาณผลผลิตในปี 2556

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2556 ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ 11.4 ล้านตันข้าวสาร (หรือประมาณ 18.14 ล้านตันข้าวเปลือก) ความต้องการใช้ในประเทศ 12.8 ล้านตัน และนำเข้า 1.4 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

ปากีสถาน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติปากีสถาน (Pakistan Bureau of Statistics: PBS) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556/57 (กรกฎาคม 2556 – มิถุนายน 2557) ปากีสถานส่งออกข้าว 1.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.29 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 ปากีสถานส่งออกข้าวบาสมาติ 271,998 ตัน ลดลงจาก 289,987 ตัน หรือลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงเดียวกัน ปากีสถานส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ 1.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าส่งออกในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2556 คิดเป็น 101.5 พันล้านรูปี เพิ่มขึ้นจาก 71.6 พันล้านรูปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 หรือคิดเป็น 966.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็น 31,533 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 749.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็น 24,461 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556/57 ราคาส่งออกข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 1,038 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 33,863 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 967 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 31,546 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555/56 ขณะที่ ราคาส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 19,704 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 558 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 18,204 บาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในเดือนธันวาคม 2556 ปากีสถานส่งออกข้าว 353,013 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 177,649 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 99 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 และเพิ่มขึ้นจาก 330,513 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 โดยจำแนกเป็นข้าวบาสมาติ 45,291 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 22,995 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 และเพิ่มขึ้นจาก 38,428 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2555

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2556 ราคาส่งออกข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 39,604 บาท) ลดลงจากตันละ 1,296 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 42,279 บาท) หรือลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 และราคาส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเฉลี่ยตันละ 673 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 21,955 บาท) ลดลงจากตันละ 698 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 22,771 บาท) หรือลดลงประมาณร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556

ในปี 2555/56 (กรกฎาคม 2555 – มิถุนายน 2556) ปากีสถานส่งออกข้าว 3.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 64,593 ล้านบาท)

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 มกราคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ