เกาะสินค้าเกษตร 4 ชนิด สศก. แจงการผลิตการตลาด กระเทียม-หอมแดง-หอมใหญ่-มันฝรั่ง 58

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2015 13:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงสถานการณ์ การผลิตการตลาด ของกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่งปี 2558 ระบุ หอมแดง มันฝรั่ง ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ กระเทียมและหอมหัวใหญ่ ราคาแนวโน้มลดลง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด และราคาที่เกษตรกรขายได้ ของสินค้ากระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่งปี 2558 ซึ่งเมื่อพิจารณาดูรายสินค้า พบว่า

กระเทียม เกษตรกรมีการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมลง เนื่องจากราคากระเทียมปลายปีที่ผ่านมามีราคาลด เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นๆ เช่น ข้าวนาปรัง มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน พืชผักอื่นๆ ทำให้ผลผลิตกระเทียมในปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตกระเทียมประมาณ 70,000 ตัน โดยภาวะการณ์ตลาดกระเทียมที่จะออกสู่ตลาดในฤดูกาลนี้คาดว่า ราคากระเทียมที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากพ่อค้าที่ซื้อกระเทียมปีที่แล้วยังคงมีกระเทียมค้างสต็อกอยู่บ้าง และบางรายขาดทุนเพราะว่ามีกระเทียมจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งขันกับตลาดภายในประเทศ พ่อค้าอาจจะชะลอการซื้อกระเทียมจากเกษตรกรมาเก็บไว้ในสต็อก ประกอบกับภาวะการค้าในปีนี้ไม่คล่องตัวเหมือนปีที่ผ่านมา โรงงานกระเทียมดองก็ซื้อในปริมาณลดลง ทำให้ราคากระเทียมสดปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ราคากระเทียมสดที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 10-12 บาท ลดลงจากปีที่แล้ว และฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดมากอาจจะลดลงอีก

หอมแดง ในปี 2558 คาดว่ามีผลผลิต 127,757 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.83 ของผลผลิตทั้งหมด โดยเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ถั่วลิสง และพืชผักอื่นๆ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว และขณะนี้หอมแดงที่กำลังออกสู่ตลาดเดือนมกราคม 2558 มีเพียงเฉพาะของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งออกสู่ตลาดไปแล้วร้อยละ 65 ของผลผลิตในจังหวัดทั้งหมด สำหรับภาคเหนือจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้านตลาดหอมแดงสามารถส่งออกหอมแดงไปได้เฉพาะประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นตลาดหลัก ขณะที่อินโดนีเซียยังไม่ให้หอมแดงจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งขันในประเทศ เนื่องจากเกษตรกรอินโดนีเซียมีการปลูกหอมแดงจำนวนมาก จึงให้นำเข้าเฉพาะหอมหัวใหญ่เท่านั้น โดยราคาหอมแดงสดของจังหวัดศรีสะเกษ อยู่ที่กิโลกรัมละ 9 บาท หอมแดงรวมจุก (ปึ๋ง) กิโลกรัมละ 16 บาท อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรยังไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ และคาดว่าราคาหอมแดงของภาคเหนือที่จะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ โดยมีราคาหอมแดงสดอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 9-10 บาท เนื่องจากว่าหอมแดงของภาคเหนือมีคุณภาพดีหัวใหญ่สามารถเก็บไว้ได้นาน และเป็นที่ต้องการของพ่อค้า จึงไม่น่าจะมีปัญหาราคาตกต่ำ

หอมหัวใหญ่ ในปี 2558 มีผลผลิต 44,961 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19.06 จากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นและไม่มีฝนตกทำให้ผลผลิตเสียหาย จึงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเนื้อที่เพาะปลูกใกล้เคียงปีที่แล้ว เพราะมีการควบคุมเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกเท่ากับที่ผูกพันไว้กับ WTO ด้านการตลาดหอมหัวใหญ่ในปีนี้การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วเหลือร้อยละ 40 เนื่องจากผลผลิตหอมหัวใหญ่ของญี่ปุ่นได้ผลดี ทำให้ปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศไม่เพิ่มมากนัก ประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้ราคาหอมหัวใหญ่ที่นำเข้ามีราคาใกล้เคียงกับราคาภายในตลาดญี่ปุ่น จึงทำให้ราคาหอมหัวใหญ่ของไทยในปีนี้จะมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะนี้ราคาหอมหัวใหญ่อำเภอแม่วางและสันป่าตองรวมจุกกิโลกรัมละ 8 บาท คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ราคาน่าจะลดลงอีก

มันฝรั่ง ในปี 2558 ผลผลิตมันฝรั่งพันธุ์โรงงานมีผลผลิต 99,712 ตัน ขณะที่ผลผลิตมันฝรั่งพันธุ์บริโภค 9,539 ตัน โดยมันฝรั่งพันธุ์โรงงานมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาก จากโครงการส่งเสริมปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ตาก และลำพูน ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงมากขึ้น และโรงงานก็มีการประกันราคารับซื้อมันฝรั่งพันธุ์โรงงานไว้ที่กิโลกรัมละ 12.50 บาท จึงมีผลผลิตเข้าสู่โรงงานมากขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานมีรายได้พอสมควร เนื่องจากโรงงานแปรรูปมีการขยายกำลังการผลิต ส่วนมันฝรั่งพันธุ์บริโภคสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเป็นผู้นำเข้าหัวพันธุ์มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก หัวพันธุ์นำเข้ามาปีนี้ปริมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ผลผลิตจึงไม่ต่างจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตลาดมันฝรั่งพันธุ์บริโภคจะขายเฉพาะตลาดในประเทศ ซึ่งขณะนี้ราคามันฝรั่งพันธุ์บริโภคกิโลกรัมละ 18 บาท และคาดว่าในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 13 บาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ