ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 17, 2015 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58 มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอ

การขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57 และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก

ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ผลการดำเนินงาน ข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558

1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)

          - ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว                       3.712 ล้านครอบครัว   61.338 ล้านไร่

2) ธ.ก.ส.

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.        3.603 ล้านครอบครัว   39.142 ล้านไร่
          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ           0.065 ล้านครอบครัว    0.529 ล้านไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร                3.538 ล้านครอบครัว  38,621.147 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการข้าวหอมมะลิอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,226 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,620 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.80

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,878 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,867 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.15

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,250 บาท ราคาคงที่เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 987 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,956 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 990 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,058 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 102 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 672 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,758 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 674 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,825 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 67 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,631 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,698 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 67 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,983 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,018 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 35 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,857 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,892 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 35 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3773 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ในปี 2557 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 6.32 ล้านตัน ลดลงจาก 6.63 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยส่วนแบ่งตลาดของข้าวเวียดนามในเอเชียและออสเตรเลียขยายตัว ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดแอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ลดลง ในปี 2557 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างๆ ดังนี้ ตลาดเอเชียประมาณ 4.92 ล้านตัน (หรือประมาณร้อยละ 78 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามในปี 2557) เพิ่มขึ้นจาก 4.09 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2556 ตลาดแอฟริกา 772,537 ตัน (หรือประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามในปี 2557) ลดลงจาก 1.8 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับปี 2556 เวียดนามส่งออกข้าวลดลงเนื่องจากการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก เช่น กีเนีย เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย นอกจากนี้ การปรับลดของราคาน้ำมันยังส่งผลให้รายได้จากการส่งออกของประเทศผู้นำเข้าข้าวลดลง เช่น ไนจีเรีย

นอกจากนี้ ในปี 2557 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดอเมริกา 438,197 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดในปี 2557) ลดลงจาก 480,033 ตัน หรือลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 2556 ตลาดออสเตรเลีย 52,960 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดในปี 2557) เพิ่มขึ้นจาก 20,776 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2556 และตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (CIS) 26,158 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดในปี 2557) ลดลงจาก 206,568 ตัน หรือลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2556

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ในเดือนธันวาคม 2557 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 366,130 ตัน ลดลงจาก 495,457 ตัน หรือลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 และลดลงจาก 526,995 ตัน หรือลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 โดยจำแนกตามตลาดดังนี้ ตลาดเอเชีย 247,999 ตัน ลดลงร้อยละ 36 ตลาดแอฟริกา 76,888 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช 3,164 ตัน ลดลงร้อยละ 88 ตลาดอเมริกา 31,684 ตัน เพิ่มขึ้น 6.6 เท่า และตลาดออสเตรเลีย 6,395 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557

ที่มา Oryza.com

สหรัฐอเมริกา

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่า ในปีการตลาด 2557/58 สหรัฐฯ นำเข้าข้าว 1.04 ล้านตัน ปริมาณคงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การนำเข้าข้าวเมล็ดกลาง-สั้นตามแนวโน้มการนำเข้าข้าวในเดือนธันวาคม 2557 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าปลายข้าวจากออสเตรเลียปริมาณ 21,000 ตันข้าวสาร

ด้านการส่งออก กระทรวงเกษตรฯ ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การส่งออกข้าวเมล็ดยาว ณ เดือนที่ผ่านมาจาก 3.18 ล้านตันข้าวสาร เป็น 3.22 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 2.86 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับตัวเลขส่งออกของปีที่ผ่านมา ขณะที่ คาดการณ์การส่งออกข้าวเมล็ดกลาง-สั้น 1.45 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ ณ เดือนที่ผ่านมาที่ 1.5 ล้านตัน แต่เพิ่มขึ้นจาก 1.38 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับตัวเลขของปีที่ผ่านมา

สำหรับสต๊อกปลายปี กระทรวงเกษตรฯ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์สต๊อกปลายปี ข้าวเมล็ดยาวในเดือนที่ผ่านมาจาก 1.32 ล้านตันข้าวสาร เป็น 1.27 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 3 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ สต๊อกปลายปี ข้าวเมล็ดกลาง-สั้น กระทรวงเกษตรฯ ปรับตัวเลขคาดการณ์เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาจาก 430,000 ตัน เป็น 520,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ด้านราคา กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่า ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ตันละ 302.03 – 315.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 9,779 – 10,207 บาท) เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ ณ เดือนที่ผ่านมาที่ 299.83 – 321.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 9,708 – 10,421 บาท) โดยในส่วนของข้าวเมล็ดยาว คาดการณ์ ตันละ 263.35 – 275.58 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 8,527 – 8,923 บาท) และข้าวเมล็ดกลาง-สั้น ตันละ 394.62 – 412.26 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,777 – 13,348 บาท)

ที่มา Oryza.com

บังกลาเทศ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (พฤษภาคม 2557 – เมษายน 2558) บังกลาเทศนำเข้าข้าว 700,000 ตัน ลดลงจาก 751,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีการตลาด 2556/57 แต่เพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด การนำเข้าในปี 2556/57 เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านการแข่งขันของอินเดียและปัจจัยด้านราคาข้าวโลก

แหล่งข่าวรายงานว่า รัฐบาลบังกลาเทศเห็นชอบส่งออกข้าวปริมาณ 50,000 ตัน ไปยังประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ข้อสรุปอย่างไร และจากข้อมูลศุลกากรของศรีลังกา ยังไม่พบการนำเข้าข้าวใดๆ จากบังกลาเทศ

ด้านการผลิต กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 บังกลาเทศผลิตข้าวประมาณ 34.5 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงเล็กน้อยจาก 34.6 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ต้นทุนค่าน้ำมันและปัจจัยการผลิตอื่นๆ เป็นอุปสรรคต่อห่วงโซ่อุปทานข้าวในหลายๆ เมืองของประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2557/58 รัฐบาลกำหนดจัดซื้อข้าวเปลือกปริมาณ 1.4 ล้านตัน และข้าวสารปริมาณ 200,000 ตัน โดยการจัดซื้อข้าวฤดูที่ 2 (Aman rice) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2557 และจะดำเนินการต่อไปจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2558 รัฐบาลตั้งเป้ารับซื้อข้าวฤดูที่ 2 ปริมาณ 300,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 32 ทากา (หรือประมาณตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 12,498 บาท) สำหรับข้าวกล้อง (husked rice) และกิโลกรัมละ 20 ทากา (หรือประมาณตันละ 257 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 8,321 บาท) สำหรับข้าวเปลือก (unhusked rice)เดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ราคาข้าวในประเทศลดลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เนื่องจากผลผลิตข้าวฤดูที่ 2 ออกสู่ตลาดมาก ปัจจุบัน รัฐบาลมีสต๊อกข้าวประมาณ 1.158 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 746,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 9 - 15 ก.พ. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ