ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2017 11:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดชะลอการซื้อขายเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,314 บาท สูงขึ้นจากตันละ 9,282 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,575 บาท ลดลง จากตันละ 7,601 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 22,430 บาท ลดลง จากตันละ 22,550 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,790 บาท ลดลงจากตันละ 11,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 695 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,285 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 692 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,215 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 533 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,625 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 531 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,581 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,173 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,122 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,859 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 367 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,842 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,488 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,437 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9428 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เคนยา

การขาดแคลนผลผลิตข้าวในเคนยา เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีความรุนแรง จากเหตุการณ์ที่ในพื้นที่เขตปกครอง Kirinyaga ขาดแคลนน้ำที่จะจัดสรรในช่วงที่เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกข้าว เพราะระดับน้ำในแม่น้ำที่สำคัญหลายสายแห้งขอด ซึ่งปกติแล้ว การปลูกข้าวในพื้นที่นี้จะใช้น้ำชลประทานจึงมีปริมาณน้ำเพียงพอมาโดยตลอด แต่เหตุการณ์การขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรกว่า 7,000 ราย มีความวิตกกังวล

ทั้งนี้ ประเทศเคนยามีระบบชลประทานขนาดใหญ่ที่สุดในแถบแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 80 แต่จากที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนผลผลิตข้าวตามมา โดยความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อแม่น้ำหลักหลายสาย เช่น แม่น้ำ Nyamindi, Thiba, Rutui, Kiringa และ Mukengeria ซึ่งแม่น้ำดังกล่าว เป็นแหล่งผลิตน้ำที่สำคัญให้กับระบบชลประทาน

โดย นาย Simon Njogu เกษตรกรชาวเคนยา ได้กล่าวว่า “ผมไม่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่ระบบชลประทานได้ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 50 ครั้งนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเพาะปลูกข้าว เราไม่เคยเห็นแม่น้ำที่แห้งขอดมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่เราต้องเผชิญกับปัญหานี้”

นอกจากนี้ ชาวนาหลายคนกล่าวว่า “พวกเขาต้องพึ่งพาการเพาะปลูกข้าว เพราะเป็นแหล่งรายได้เพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ และเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัว” และยังกล่าวต่ออีกว่า “ถ้าเร็วๆนี้ ฝนยังไม่ตก แม่น้ำก็จะต้องแห้งต่อไป ซึ่งหมายความว่า เราไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมการด้านอาหารให้กับพวกเราเพื่อความอยู่รอด”

นาย Maurice Mutugi ประธานของ Mwea Water Users Association ยอมรับว่า สถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างเลวร้าย “ปริมาณน้ำในแม่น้ำหลายสายมีแนวโน้มลดลง โดยเริ่มลดลงตั้งแต่ฤดูกาลที่ผ่านมา เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยมาก แต่ในฤดูกาลนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุด เพราะว่าเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้เลย เพราะไม่มีน้ำ” ซึ่งปัญหาการจัดสรรน้ำ จะถูกแก้ไขได้ทันทีเมื่อเขื่อน Thiba ถูกสร้างเสร็จ โดยประมาณการงบประมาณก่อสร้างไว้ที่ 20 พันล้านเคนยาชิลลิงส์ เป้าหมายการก่อสร้างเขื่อน เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในระบบชลประทาน แต่โครงการสร้างเขื่อนนี้ยังไม่เริ่มดำเนินการ โดยเงินทุนที่จะนำมาสร้างเขื่อนนี้ อยู่ในกำกับของอดีตประธานาธิบดี(นาย Kibaki) ซี่งว่าที่ประธานาธิบดี นาย Uhuru Kenyatta ได้ประณามเรื่องความล่าช้าในการสร้างเขื่อน โดยให้สัญญาว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งจะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้

ขณะที่ รัฐบาลกำลังจัดส่งเสบียงอาหารไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในเขตปกครองตนเอง Nyandarua รัฐมนตรีสาธารณสุขของเคนย่า นาย Sicily K. Kariuki กล่าวว่า ได้มีการนำข้าวโพด 800 กระสอบ ข้าวสาร 500 กระสอบ ถั่ว 300 กระสอบ และน้ำมันสำหรับทำอาหารอีก 50 กล่อง มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยรัฐบาลของเคนยาต้องการให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทุกครัวเรือนแน่ใจว่า จะได้รับอาหารอย่างทั่วถึง และยังเตือนผู้ที่มีหน้าที่แจกจ่ายอาหาร ไม่ให้นำอาหารสำหรับแจกจ่ายไปจำหน่าย และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าเขื่อนขนาดใหญ่จะถูกสร้างโดยใช้งบประมาณ 15 พันล้านเคนยาชิลลิงส์

ที่มา: Rice Outlook Redefining Rice Industry

ไทย

เกษตรกรภาคกลางที่ปลูกข้าวนาปรัง 2 จังหวัด จะได้รับความเสียหายมากกว่า 8 หมื่นไร่ ถ้าหากมีการประกาศว่าจะมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง

โดยตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 500 ราย จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ได้เข้าฟังการอธิบายจากกรมชลประทานเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งกรมชลประทานประกาศว่า อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม นอกจากนี้ ทางกองทัพบกได้จัดประชุมเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร โดยมีตัวแทนเกษตรกร 63 ราย ที่ใช้น้ำจากคลองระพีพัฒน์ กล่าวว่า เกษตรกรใน 2 จังหวัดดังกล่าว ได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรกแล้วหลังจากที่กรมชลประทาน กล่าวกับพวกเขาว่า ในปีนี้จะมีน้ำเพียงพอสำหรับปลูกข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงสิ้นเดือนเมษายน และตอนนี้ข้าวอายุได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ทำให้เกษตรกรตื่นตระหนกหลังจากที่พบว่า จะมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งนี้ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมากกว่า 84,000 ไร่ ใน 3 อำเภอของ 2 จังหวัด กำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำ เมื่อคลองระพีพัฒน์และแหล่งน้ำอื่นๆ เริ่มเหือดแห้ง

ตัวแทนเกษตรกรกล่าวว่า ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะต้องแห้งแล้งและตายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีน้ำจากคลองดังกล่าวมาสนับสนุน โดย นายทองอิน ศรีนวล และเกษตรกรอีก 75 ราย ได้แสดงความกังวลว่า ถ้าไม่มีน้ำใช้ภายในสัปดาห์นี้ ข้าวนาปรังที่เริ่มปลูกพื้นที่กว่า 20 ไร่ ของเขาจะต้องตาย ด้านนายประเสริฐ เล็กรุ่งเรืองกิจ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน สำนักชลประทานที่ 10 รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ กล่าวว่า น้ำในแม่น้ำป่าสักจะไม่เพียงพอส่งไปยังคลองระพีพัฒน์ ถ้าจะให้ส่งน้ำไปยังคลองดังกล่าวตามคำขอของเกษตรกร ก็จะขัดกับการจัดการของกรมชลประทาน ดังนั้นเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าว ตนอาจจะเสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้ส่งน้ำไปยังคลองระพีพัฒน์ทุกๆ 2 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรฟังการชี้แจงกว่า 5 ชั่วโมง ก็เดินทางกลับบ้านด้วยความสิ้นหวัง

ที่มา: Bangkok post

อินโดนีเซีย

The State Logistics Agency (Bulog) ได้กู้เงินจากธนาคารกว่า 37 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อนำมาจัดสรรในการซื้อสินค้าที่สำคัญหลายชนิด เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโพด และน้ำตาล จากเกษตรกรท้องถิ่นในประเทศรวมถึงต่างประเทศด้วย เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของราคา

Djarot Kusumayakti ประธานของ Bulog กล่าวว่า “ขณะนี้ได้รับเงินจำนวน 37 ล้านล้านรูเปียห์ จากธนาคารเพื่อที่จะนำไปซื้อสินค้าต่างๆ แล้ว” โดยในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะซื้อข้าวจากเกษตรกรในประเทศประมาณ 3.7 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ซื้อเพียง 2.9 ล้านตัน โดยผลผลิต 3.2 ล้านตันจากที่ซื้อ 3.7 ล้านตัน จะนำไปแจกจ่ายให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ขณะที่อีก 5 แสนตันที่เหลือ จะนำเข้าสู่ตลาด เพื่อสนับสนุนสินค้าข้าวให้มีค่าเพียงพอในตลาดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพอยู่ที่ 8,000 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม โดยทางการหวังว่า จะได้รายงานความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพของราคาของสินค้าอื่นๆ ด้วย ได้แก่ น้ำตาล ถั่วเหลือง และ เนื้อวัว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้เกิดการตกลงขายสินค้าในราคาที่ทาง Bulog กำหนดไว้

Djarot กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการซื้อเนื้อวัวและข้าวโพด เราหวังว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้น เพื่อการรักษาเสถียรภาพของราคา” ทั้งนี้ Bulog ยังได้จัดสรรเงินจำนวน 2.3 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อไปลงทุนเกี่ยวกับวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่การเก็บรักษาข้าวไปจะถึงโรงสี รวมถึงการเก็บเกี่ยวข้าวโพดด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าในประเทศจะมีสินค้าเกษตรคุณภาพดีให้รัฐบาลได้ซื้อมากขึ้น

ที่มา: The Jakarta Post

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 ม.ค. - 5 ก.พ. 60--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ