ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 27, 2017 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ : ข้าวอินทรีย์ (กข.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด

(1) อบรม GMP/HACCP โรงสีติดดาว/4.0 นวัตกรรมข้าวและความรู้ด้านการตลาดและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี (คน.)

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

(3) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องการข้าวเพื่อทยอยส่งมอบ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,496 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,333 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.74

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,361 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,053 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.83

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,610 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 22,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.87

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,370 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 792 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,710 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 765 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,803 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.52 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 907 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 461 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,547 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 462ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,583 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 36 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,535 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,639 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 104 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 481 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,222 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 477 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,089 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 133 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7250 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2560/61 ประจำเดือนมิถุนายน 2560 ว่าจะมีผลผลิต 481.041 ล้านตันข้าวสาร (717.4 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 483.097 ล้านตันข้าวสาร (720.4 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.43 จากปี 2559/60

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2560/61 ณ เดือนมิถุนายน 2560 ว่าผลผลิต ปี 2560/61 จะมี 481.041 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2559/60 ร้อยละ 0.43 การใช้ในประเทศจะมี 479.715 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.02 การส่งออก/นำเข้าจะมี 42.299 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.04 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 120.547 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.11

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ กัมพูชา จีน อียิปต์ กายานา ปากีสถาน ปารากวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู กานา กินี เฮติ อิหร่าน อิรัก เคนย่า โมแซมบิค ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เนื่องจากต่างประเทศมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ค้าข้าวต่างเก็บสต็อกข้าวไว้ เนื่องจากคาดว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามสูงขึ้นถึงตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ตันละ 395- 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ราคาข้าวของเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาในประเทศและราคาส่งออก เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นขณะที่อุปทานข้าวมีจำกัด โดยข้าวหอม Jasmine rice ราคาตันละ 565-570 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วง 3 สัปดาห์ก่อนถึงตันละ 65-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวขาว 5% ราคาประมาณตันละ 410-420 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วง 3 สัปดาห์ก่อนถึงตันละ 35-45 ดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับข้าวขาว 25% ราคาอยู่ที่ตันละ 370-375 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตันละ 25-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1,000 ดองต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัท Viet Hung Company ในเขตที่ราบลุ่มน้ำโขง ระบุว่า ในช่วงนี้ความต้องการข้าวหอมจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นขณะที่อุปทานข้าวมีจำกัด ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนยังเก็บข้าวไว้เพื่อรอราคาปรับสูงขึ้นอีก ข้อมูลสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม -15 พฤษภาคม 2560 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมประมาณ 26.875 ล้านเฮคเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 โดยในช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน 2560 พื้นที่ทางภาคเหนือของเวียดนามเพาะปลูกข้าวประมาณ 6.875 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.4 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด แต่ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคใต้ประมาณ 11.875 เฮคเตอร์ คิดเป็นร้อยละ 44.5 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2560 มีการเพาะปลูกข้าว 8.125 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.1 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4

โดยในช่วงเวลาเดียวกัน เวียดนามมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวเดือนพฤศจิกายน 2559 – เมษายน 2560 รวมประมาณ 13.125 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2559 โดยพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวทางภาคเหนือของ เวียดนามประมาณ 1.258 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวในภาคใต้ประมาณ 22.56 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6

สำหรับราคาข้าวเปลือกและข้าวขาว ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ราคาขายส่งข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรราคาประมาณ 0.218 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยราคาข้าวขาวหน้าคลังสินค้าประมาณ 0.301 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ลดลงร้อยละ 2.2 ข้าวหอม Jasmine 5% ประมาณ 0.447 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ข้าวหอม (Fragrance) ประมาณ 0.480 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และข้าวหอม KDM (Kow Dak Mali) ประมาณ 0.502 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ราคาทรงตัวเท่ากับเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ ราคาขายปลีกข้าวเปลือกที่วางขายในตลาดมีราคา 0.311 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ราคาข้าวขาว 0.441 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ทรงตัวเท่ากับเดือนที่แล้ว ราคาข้าวหอม Jasmine 0.617 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ข้าวหอม (Fragrance) 0.617 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม และข้าวหอม KDM (Kow Dak Mali) 0.661 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ และกรุ.ฮานอย, Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

หน่วยงานด้านอาหารของรัฐบาล (Directorate General of Food, Ministry of Food, Government of the People's Republic of Bangladesh) ได้เปิดประมูลซื้อข้าว ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจะซื้อข้าวนึ่ง (ครั้งที่ 3) จากทุกประเทศจำนวน 50,000 ตัน (50,000 MT (+5%) Non-Basmati Parboiled rice on CIF Liner out term) ซึ่งจะปิดรับข้อเสนอราคาประมูลในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ และเปิดซองข้อเสนอในวันเดียวกัน โดยกำหนดส่งมอบภายใน 40 วันหลังจากทำสัญญาแล้ว และให้ส่งมอบที่ท่าเรือ Chittagong ในสัดส่วนร้อยละ 60 และที่ท่าเรือ Mongla อีกร้อยละ 40 ของปริมาณที่ชนะการประมูล

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติแผนการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม ตามที่กระทรวงการอาหาร (the food ministry) ของบังคลาเทศได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อซื้อข้าวจากเวียดนาม 250,000 ตัน โดยจะซื้อข้าวจากบริษัท Vinafoods 2 แบ่งเป็นข้าวขาวจำนวน 200,000 ตัน ในราคา 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF) และข้าวนึ่ง 50,000 ตัน ในราคา 470 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (CIF) กำหนดส่งมอบภายใน 60 วัน โดยล็อตแรกคาดว่าจะส่งมาถึงภายใน 15 วัน

รัฐบาลยังได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากเดิม ร้อยละ 28 ลดลงเหลือร้อยละ 10 เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าข้าว และคาดว่าจะช่วยให้ราคาข้าวปรับลดลงด้วย ขณะที่สต็อกข้าวล่าสุดของบังคลาเทศมีจำนวนเพียง 193,000 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ที่มา : Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 มิ.ย. - 25 มิ.ย. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ