ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 18, 2018 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 13 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 12ธันวาคม 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) 3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์4) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 5) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 25616) โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 7) โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561และ 8) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ ฤดูนาปรัง ปี 2561

(2) ด้านการตลาด มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เห็นชอบโครงการฯ ได้แก่ 1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี และ 4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) ด้านการเงิน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

ปีการผลิต 2560

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดจากการที่ต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,155 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,197 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,737 ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,724 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,450 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,144 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,411 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,143 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,372 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,805 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,372 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,712 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9537

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปินส์

ฟิลิปปินส์อนุมัตินำเข้าข้าวจำนวน 250,000 ตัน โดยวางแผนเปิดประมูลแบบ G to G จากประเทศไทยหรือเวียดนาม เพื่อเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3-4 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระดับราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลต่อระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นใกล้เคียงร้อยละ 4.3 ในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี โดยการนำเข้าข้าวจำนวน 250,000 ตัน นี้จะช่วยเพิ่มระดับสต็อกข้าวของ NFA ที่จะทำการขายออกสู่ตลาดในราคาที่ถูกกว่า และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ ทั้งนี้ การส่งมอบข้าวจำนวนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ที่มา : รอยส์เตอร์

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ในปี 2561 จะนำเข้าข้าวเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตัน เนื่องจากต้องการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและเพิ่มปริมาณข้าวในสต็อก โดยที่ผ่านมา BULOG ได้ตั้งเป้าการรับซื้อข้าวภายในประเทศในปี 2561 จำนวน 2.7 ล้านตันข้าวสาร แต่จนมาถึงเดือนมีนาคมมีการรับซื้อได้เพียงปริมาณ 650,000 ตันเท่านั้น การเผชิญปัญหาข้าวราคาแพงก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและปริมาณข้าวในสต็อกที่มีไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลประกาศนำเข้าข้าวปริมาณ 500,000 ตันในเดือนมกราคม โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาข้าวปริมาณ 261,000 ตัน ส่งถึงอินโดนีเซีย และรัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลาการนำเข้าข้าวจำนวนที่เหลือออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ USDA รายงานว่าปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวของชาวอินโดนีเชียลดลงประมาณร้อยละ 1.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชากรหันไปบริโภคอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบมากขึ้น โดยผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ปานกลางระดับบนมีการบริโภคอาหารแบบตะวันออกมากขึ้น เช่น ขนมปัง พาสต้า จากเดิมที่บริโภคข้าวทั้ง 3 มื้อ เปลี่ยนไปบริโภคขนมปังหรืออาหารจำพวกเส้นเป็นอาหารเช้าแทน

ที่มา : World grain

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6 – 12 เม.ย. 61 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ