ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday September 21, 2009 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีนที่ผ่านมา ประกอบกับได้ควบคุมปริมาณการผลิตให้สมดุลย์กับความต้องการ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

จากการรายงานข่าวพบสุกรติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ประเทศแคนาดา อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย กรมปศุสัตว์ได้แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเฝ้าระวังโรคในสุกร โดยต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เข้า-ออกฟาร์มยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์ หากพบสุกรมีอาการป่วย นอนซม ไข้สูง ตัวแดง หายใจลำบาก ไอ จาม ให้กักสัตว์ดูอาการ ห้ามเคลื่อนย้ายออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาด 7-14 วัน เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน และให้แจ้งสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม เจ้าหน้าที่ กรมปศุสัตว์ทันที ด้านสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) ขณะนี้ได้เฝ้าระวังห้องปฏิบัติการโดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก และตรวจโมเลกุลเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมว่ามีความสัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 หรือไม่ เบื้องต้นยังไม่พบสุกรที่แสดงอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ อย่างไรตามจากข้อมูลทางวิชาการสุกรเป็นตัวรับสามารถจับกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนและสัตว์ปีก ทำให้สุกรเป็น mixing vessel ในการเกิด genetic resentment ระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคนและสัตว์ปีก ส่งผลให้เชื้อไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์ โดยเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้และอาจกลับมาติดต่อสู่คน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 56.84 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.48 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.64 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.50 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.67 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.36 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 61.75 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 58) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.74 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 67.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.48

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีนที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการเลี้ยงไก่เนื้อได้ควบคุมปริมาณการผลิตให้สมดุลย์กับความต้องการ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว

กรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนสภาพอากาศการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลจากร้อนเป็นร้อนชื้นทำให้สัตว์เจ็บป่วยเป็นโรคหวัดหรือโรคปอดบวมได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ของทุกปีมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ และการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกระลอกใหม่ เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดของโรค จึงได้รณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกหรือเอ็กซเรย์ทุกพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้จะกำหนดมาตรฐานการควบคุมโรคไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่งและไก่ชนทั่วประเทศ โดยขึ้นทะเบียนสัตว์ โรงฟัก เก็บตัวอย่างในฟาร์มทุก 3 เดือน และพื้นที่กันชน พร้อมตั้งจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกทั้งภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 39.04 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.99 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 41.52 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 38.56 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 37.59 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงานในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 14.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

นสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวราคาไข่ไก่ก็จะอ่อนตัวลงตามฤดูกาลซึ่งถือเป็นภาวะปกติ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือปรับตัวลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 259 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 260 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 269 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 258 บาท ภาคกลางร้อยฟองละ 258 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 259 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 30.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 265 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 285 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 7.02

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 287 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 289 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.67 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ ร้อยฟองละ 247 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 305 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 277 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 338 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 350 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 42.28 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.78 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.17 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 45.48 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.96 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.37 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 53.60 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 34.01 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 34.18 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.50 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 47.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 31.42 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ ข่าวสัปดาห์ 7 - 13 กันยายน 2552--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ