สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2015 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่า 3,267.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม อัญมณีสังเคราะห์ และทองคำ ขยายตัวเพิ่มขึ้น และ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.74 เนื่องจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มอัญมณีบางรายการ เช่น เพชร พลอย อัญมณีสังเคราะห์ ทองคำ และโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,921.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 58.80 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมโดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเล็กน้อย

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.45 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.42 รวมถึงดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.06 เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวันแม่ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 7.18 ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงเช่นกัน ร้อยละ 20.83 และ 0.75 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

จำนวนโรงงานที่เปิดและปิดกิจการ

ไตรมาส 3 ปี 2558 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 1 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 30.90 ล้านบาท เป็นโรงงานทำเครื่องประดับอัญมณี และมีโรงงานที่เลิกประกอบกิจการในช่วงไตรมาสนี้ จำนวน 5 ราย แบ่งเป็นโรงงานทำเครื่องประดับอัญมณี จำนวน 1 ราย และโรงงานตัด เจียรไน ขัดเพชร พลอย หรืออัญมณี จำนวน 4 ราย

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,921.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม และ อัญมณีสังเคราะห์เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.94 เนื่องจากมีการส่งออกไข่มุกและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินลดลง ร้อยละ 39.46 และ 11.66 ตามลำดับ แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.74 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุป 3 ไตรมาสของ ปี 2558 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม ขยายตัว ร้อยละ 10.95 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 766.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.81 และ 3.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชรไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 468.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.54 และ 2.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อของตลาดหลักเพิ่มขึ้น อาทิ ฮ่องกง และเบลเยี่ยม

1.2 พลอยไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 294.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.01 และ 5.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น อาทิ จีน สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอิตาลี

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 989.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.78 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองและโลหะมีค่าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.33 จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินลดลง ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 403.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.30 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ ฮ่องกง เยอรมนี และออสเตรเลีย แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 11.66 เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในตลาดหลักได้แก่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 498.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.30 และ 0.23 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 99.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.53 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้นได้แก่ลิกเตนสไตน์สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 6.57

4. อัญมณีสังเคราะห์ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 30.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.17 และ 17.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 1,346.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.30 และ 423.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มการถือครองทองคำในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน เพื่อเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคาในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 ในภาพรวมมีมูลค่า 2,323.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.52 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 24.63 โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชรไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 244.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.72 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาเพชรที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.45 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง

1.2 พลอยไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 107.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.50 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 17.40

1.3 ทองคาไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 1,575.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.88 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกใน ไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 28.62 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อน

1.4 เงินไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 134.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 6.77 และ 18.97 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 29.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.55 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 8.91

2. เครื่องประดับอัญมณีในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 173.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.69 และ 0.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 160.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.27 และ 5.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียมไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 13.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.29 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกซึ่งกำลังมีความต้องการสูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในภาวะที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 37.37 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคประมาณ 600 ล้านคนทั่วอาเซียนโดยจะดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจและทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน +3 (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมสำคัญ อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็งโดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย/ปี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 ภาคการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.45 และ 2.42 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันแม่ในเดือนสิงหาคม

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.17 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม และอัญมณีสังเคราะห์เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.94 เนื่องจากมีการส่งออกไข่มุกและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินลดลง ร้อยละ 39.46 และ 11.66 ตามลำดับ ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.74 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตามดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.62 สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.84 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.88 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการนำเข้าในภาพรวม ลดลง ร้อยละ 23.21

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวได้ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสและวันปีใหม่และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นาออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำ ยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมคาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง

แนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น พลอย ไข่มุก โลหะมีค่า และโลหะอื่น รวมถึงเครื่องประดับอัญมณี เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี สำหรับทองคำยังไม่ขึ้นรูป คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีการนำเข้าทองคำเพื่อเก็งกำไรเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ