ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2016 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง สะท้อนถึงสัญญาณการทยอยฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขึ้น โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมีการขยายตลาดส่งออก

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เดือนมิถุนายน 2559 ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งรัดการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชนในระยะต่อไป สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเวียดนาม บังคลาเทศ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัว โดยมีการส่งออกไปตลาด สหภาพยุโรปและเวียดนามได้ค่อนข้างมาก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัว โดยมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Monolithic IC และ Other IC เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา

การแจ้งประกอบกิจการและการจำหน่ายทะเบียนโรงงาน เดือนมิถุนายน 2559 มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการจำนวน 362 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 13.8 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 และมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนเงินทุน 2,744.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ร้อยละ 9.0 สำหรับโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนโรงงานมีจำนวน 120 ราย มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 73.9 แต่น้อยกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 52.4

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนมิถุนายน 2559 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มีมูลค่า 1,419.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ลดลง

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 6,120.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย ผ้าผืน รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนมิถุนายน 2559 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,530.0 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 5.2 ที่ปริมาณ 11,106.7ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ปริมาณ 10,311.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 0.8 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนี เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สบู่ ผงซักฟอก และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 1.6

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 1.1

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนมิถุนายน 2559 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 7.5 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2559

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 362 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 318 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 13.8 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 18,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 14,653 ล้านบาท ร้อยละ 27.0 และมีการจ้างงานจำนวน 9,406 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,858 คน ร้อยละ 19.7

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 332 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 9.0 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,078 คน ร้อยละ 16.4 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 24,425 ล้านบาท ร้อยละ 23.8

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรม ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็ม แผ่นพื้น จำนวน 29 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 24 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนเงินทุน 2,744.35 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 2,645.80 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้า จำนวนคนงาน 980 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ผลิตผลิตภัณฑ์เคมี การทำยาฆ่าเชื้อโรค กรด ด่างเจือจาง จำนวนคนงาน 465 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 120 ราย มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.9 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,177 คน มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,452 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 3,057 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 8,237 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 252 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 52.4 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 5,659 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 8,120 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิปซั่ม ปูนปลาสเตอร์ จำนวน 12 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมดูดทราย และอุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป ทั้ง 2 อุตสาหกรรม จำนวนอุตสาหกรรมละ 9 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ เงินทุน 635 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ เงินทุน 444 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2559 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ จำนวนคนงาน 300 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมต้ม นึ่ง หรืออบพืชหรือเมล็ดพืช จำนวนคนงาน 150 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกหดตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว การชะลอคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้า ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน และมีผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมาก

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก เช่น แป้งมันสำปะหลัง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และ 9.7 ตามลำดับจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้วยไม่พบสถานการณ์โรคระบาด ประกอบกับความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลืองการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในปรับตัวสูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.6 โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.9 เนื่องจากราคาน้ำมันถั่วเหลืองใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์ม ทำให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองแทน

2) ตลาดต่างประเทศภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.1 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋องปรับตัวลดลงร้อยละ 36.3 4.1 3.7 2.5 และ 1.1 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน รวมทั้งมีผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมาก อย่างไรก็ดี มีบางสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ข้าว และไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.2 2.5 2.3 และ 0.4 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวแม้ราคาจะปรับลดลงก็ตาม สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.7 จากราคาและการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ จีน และเกาหลีใต้

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อยจากปีก่อนโดยมีปัจจัยลบจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การที่อุปสงค์จากจีนชะลอตัวลง และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกในหลายสินค้า ได้แก่ สินค้าไก่แปรรูป ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สินค้าน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น สินค้ากุ้ง จากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากโรค EMS ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับ SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารให้ขยายตัว

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอลดลงทั้งกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และกลุ่มเส้นด้าย ตามการผลิตในกลุ่มผ้าผืนที่ลดลง ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ผลิตเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก แต่ลดลงในส่วนเสื้อผ้าทอ โดยมีการนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นตามความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น"
1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอในภาพรวมลดลง ร้อยละ 3.69 ทั้งในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้เองในโรงงานทอผ้า ในส่วนการผลิตผ้าผืน ลดลง ร้อยละ 12.17 ตามความต้องการใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ลดลง

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 7.40 โดยผลิตลดลงในกลุ่มเสื้อผ้าทอ ตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ แต่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเสื้อผ้าถัก ร้อยละ 4.84 ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมากจากจีน กัมพูชา เวียดนาม บังคลาเทศ และตุรกี

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.21 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายให้กับโรงทอในประเทศ แต่ในส่วนผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 4.59 และ 14.18 ตามลำดับ จากภาวะเศรษฐกิจภายในที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 14.39 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และปากีสถาน เป็นต้น ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.05 ในตลาดเมียนมาร์ บังคลาเทศ กัมพูชา และจีน เป็นต้น สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 4.64 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน และสหรัฐอเมริกา ลดลง ร้อยละ 11.76 และ 2.14 ตามลำดับ แต่ยังขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 1.65 และสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.99

3. แนวโน้ม

คาดว่า การผลิตจะขยายตัวในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ตามความต้องการใช้ในประเทศ โดยเฉพาะเส้นใยสำหรับใช้ในการผลิตสิ่งทอเทคนิคสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่วนการผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ประกอบกับผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่า จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจภายใน สำหรับการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้า คาดว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอจะนำเข้าเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนลดลง แต่ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศเวียดนามขยายตัวสูง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัว ร้อยละ 8.8 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 76.1 ล้านล้านดอง (ประมาณ 124,200 ล้านบาท) โดยในส่วนของงานการก่อสร้างทั้งในเขตเมืองและชนบทได้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 129.08 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 2.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 41.01 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 21.39 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 15.32 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงแบนมีจำนวน 1,011,828 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.3 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.2 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.5 เหล็กแผ่นเคลือบอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.9 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.0 โดยเหล็กโครงสร้างขึ้นรูปเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,536.5 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน Stainless steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 95.2 และเหล็กแผ่นรีดร้อน Carbon steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 90.2 สำหรับการส่งออก พบว่า การส่งออกเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 3.7 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน Alloy steel ลดลง ร้อยละ 92.1 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน Carbon steel P&O ลดลง ร้อยละ 69.2

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.89 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ32.74 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 42.1 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.9 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.1 สำหรับการนำเข้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.8 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 131.3 รองลงมาคือ เหล็กเส้น Alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.1 สำหรับการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.6 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน Alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 64.4

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกรกฎาคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 65.58 เป็น 73.95 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.76 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 69.74 เป็น 73.43 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.29 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีราคาเหล็ก ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 76.94 เป็น 74.82 ลดลง ร้อยละ 2.76 เหล็กเส้น ลดลงจาก 79.78 เป็น 76.17 ลดลง ร้อยละ 4.52 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 78.5 เป็น 74.39 ลดลง ร้อยละ 5.24

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนกรกฎาคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว โดยในส่วนของเหล็กเส้น คาดว่าจะลดลง เนื่องจากสินค้าคงคลังยังคงมีอยู่ ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัว ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ที่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมีการขยายตลาดส่งออก

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 179,875 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการผลิต 151,698 คัน ร้อยละ 18.57 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันและอนุพันธ์และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 66,049 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 60,322 คัน ร้อยละ 9.49 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 107,025 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการส่งออก 76,774คัน ร้อยละ 39.40 โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป ซึ่งเป็นการขยายตัวของรถยนต์นั่ง รถกระบะ 1 ตัน และรถ PPV

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม2558 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 35 และส่งออกร้อยละ 65

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน2559 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศ

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 168,245 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการผลิต 150,389 คัน ร้อยละ 11.87 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 184,457 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 172,522 คัน ร้อยละ 6.92

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 23,176 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการส่งออก 30,007 คัน ร้อยละ 22.76 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 81 และส่งออกร้อยละ 19

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งรัดการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชนในระยะต่อไป สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเวียดนาม บังคลาเทศ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.93 และร้อยละ 15.24 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังมีการขยายตัวที่ดี ทั้งในส่วนของการผลิตและจำหน่ายในประเทศ หากพิจารณาจากกราฟเส้นสีม่วงด้านซ้ายมือจะเห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดการลงทุนก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่กาญจนบุรี โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงและแม่สอด รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2 ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้นและมีการผลิตเพิ่มขึ้นตาม

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกรวมของปูนซีเมนต์เดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 เนื่องจากเวียดนาม บังคลาเทศ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้นมากพอที่จะครอบคลุมการปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยของประเทศคู่ค้าหลักสองอันดับแรกอย่างเมียนมาร์และกัมพูชาได้นอกจากนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเร่งก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นและปรับลดการส่งออกลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มหดตัวลงจากเดือนมิถุนายน เนื่องจากเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงฤดูฝนของไทย มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ตลอดทั้งเดือน ทำให้ภาคก่อสร้างโดยรวมทั่วประเทศชะลอตัว

สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคก่อสร้างในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะเดียวกับที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักก็อยู่ในช่วงฤดูฝนเช่นกัน จึงมีแนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตวางแผนปรับลดปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลงตาม

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต Monolithic IC และ Other IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน มิถุนายน 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 116.92 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 140.50 เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า และเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.23 , 50.13, 5.36, 9.19, 7.27, 2.23, 17.69, 5.70, 3.63 และ 21.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดสหภาพยุโรปและเวียดนามได้ค่อนข้างมาก

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 102.23 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.64 และ 5.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ยกเว้นการส่งออกไปญี่ปุ่นปรับตัวลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2559 มีมูลค่า 4,504.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,910.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.72, 0.04, 1.28 และ 1.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียน ลดลงร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักที่มีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 384.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.69, 69.13, 144.66, 28.49 และ 1.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมาคือ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม มีมูลค่า 223.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.46, 12.53, 14.30 และ 10.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล ลดลงถึงร้อยละ 40.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ (เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต) ทดแทนกล้องดิจิทัล

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,593.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 เมื่อ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 6.80, 1.52, 7.77 และ 16.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,392.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.34 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 7.15, 5.70 และ 4.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 และ 3.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 673.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58 6.24, 5.82 และ 12.27 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 14.44 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2559 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าทางความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เนื่องจากครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออก HDD และ IC ลดลงจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊คที่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ