สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 2 ปี 2559 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนเนื่องจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ 42.9 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 อยู่ที่ 61.4 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2559) อยู่ที่ 41.8 USD/Barrel เนื่องจากสต็อกของประเทศผู้ใช้น้ำมันโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปริมาณการผลิตของแคนาดา ไนจีเรียและลิเบีย ที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงทรงตัว

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร จากการขยายตัวได้ดีของสาขาการก่อสร้างและภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่ลดลงจากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 หดตัวร้อยละ 0.3 หดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่หดตัวต่อเนื่องจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อุตสาหกรรมยาสูบลดการผลิตลงเพื่อลดระดับปริมาณสินค้าคงคลัง ขณะที่อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 หดตัวลงเนื่องจากการส่งออกที่กลับมาหดตัวลงร้อยละ 4.07 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวลง ประกอบกับการนำเข้าที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.44 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 98,391.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 51,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 47,083.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.68 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 4,224.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 24,145.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 16,037.3 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 8,108.3 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -6,316.1 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 6,811.0 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 495.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 96.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 14,608.7 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 403 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 461 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 186,550 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 195,130 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 139 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 29,510 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 94 โครงการ เป็นเงินลงทุน 61,660 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 170 โครงการ เป็นเงินลงทุน 95,380 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 65,410 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดกิจการบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 61,930 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 21,180 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศจีน โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 26 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 20,033 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลียได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 10 โครงการ มีเงินลงทุน 18,546 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวน 61 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 15,769 ล้านบาท และประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 14 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,610 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณ 2,421,806 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 5,644,107 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.20 ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 2ปี 2559 มีมูลค่า 2,010.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 200.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 50.44

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จะขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าของโครงการภาครัฐ ที่จะส่งผลให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตยานยนต์จะเพิ่มขึ้น

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559(เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 486,506คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 410,711 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.45 สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 282,882คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.14ของปริมาณการผลิตทั้งหมดโดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 117,351คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.49และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์165,531คันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.51 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 2.01โดยมีการผลิตรถยนต์ปิกอัพ1 ตันและอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ8.44 และ 7.58ตามลำดับแต่มีการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.19

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่3 ของปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยข้อมูลการประมาณการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่รวบรวมจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์คาดว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 503,500 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50 สำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2559 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59 โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.55และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,100,000 คัน ลดลงร้อยละ 8.71

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 112.66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD Semiconductor และ Printer ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.39 13.73 และ 10.06 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดลงและหันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น

          อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น                 ร้อยละ 7.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.87 เนื่องจากเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักเกือบทั้งหมด สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโน้ตบุ๊คลดลง ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

เคมีภัณฑ์ การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีมูลค่ารวม 1,592.239 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องสำอาง และ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด คิดเป็นประมาณร้อยละ 26.73 26.65 และ13.67 ตามลำดับ การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีมูลค่ารวม 3,302.699 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 23.89 22.92 และ 12.84 ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังคงชะลอตัว เช่น เศรษฐกิจของยุโรป จีน และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าเคมีภัณฑ์พื้นฐานของไทยชะลอตัวลงเช่นกัน

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีผลผลิตและดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 8.08 และ 3.84 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 และ 10.66 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกกลุ่มเครื่องประกอบอาคารและเครื่องใช้ในครัวเรือน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อสต็อกสินค้า

แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน อีกทั้งการท่องเที่ยวและการบริการที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักยังคงมีความผันผวนและอยู่ในช่วงขาลง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง ทั้งเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และความไม่สงบทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในตะวันออกกลาง

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2559 คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ และการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดการขยายตัวตาม

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก ลดลง ตามความต้องการบริโภคที่ลดลง และความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิต ลดลง เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังจากไตรมาส 1 ปี 2559 มีเพียงพอต่อความต้องการในไตรมาสนี้สำหรับกระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้น จากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3ปี 2559คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวและจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปริมาณการใช้กระดาษประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

เซรามิก การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 ในภาพรวมเติบโตได้ดีขึ้นเฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์ ในขณะที่กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 ในภาพรวมลดลงในตลาดหลักเกือบทุกผลิตภัณฑ์จากความเปราะบางและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ซึ่งเป็นการนำเข้ากระเบื้องปูพื้นบุผนัง เป็นสำคัญ

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ คาดว่ามีแนวโน้มลดลง ตามภาวะการก่อสร้างในช่วงฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงตามทิศทางของตลาดในประเทศ และจากมาตรการการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากระเบื้องปูพื้นบุผนัง จากจีน คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการบรรเทาผลกระทบในการแข่งขันกับสินค้านำเข้า จากจีน และทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงได้บ้าง

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2559ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลง เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัว และมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2559คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2โดยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยหลายแห่งโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่จะต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.32 สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55ในส่วนการผลิตเส้นด้าย ลดลงทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในหดตัวสำหรับผ้าผืน หดตัวทั้งการผลิตและการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและจากผ้าทอลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 2.20 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ2.10 เป็นผลจากความต้องการของผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.21 6.56 และ 14.42 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่าการผลิตจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นจากตลาดคู่ค้าหลัก เพื่อใช้บริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่า จะขยายตัวมากกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การกระตุ้นตลาดโดยการลดราคาสินค้ารวมถึงมีโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้ซื้อในส่วนการส่งออก ภาครัฐได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการส่งออกแบรนด์สินค้าไปในอาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งเพิ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และการจัดตั้งเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนนอกจากนี้สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการในอาเซียน และสินค้าไทยได้เปรียบคู่แข่งในอาเซียนโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ ทำให้มีการเจาะกลุ่มลูกค้าใน CLMV มากขึ้น สำหรับการนำเข้าคาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในประเทศ

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 ในภาพรวมตลาดยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ประกอบกับภาระค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง รวมทั้งรายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ขยายตัว สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 ลดลงตามภาวะการผลิตเครื่องเรือนไม้ในประเทศ

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงตามทิศทางการผลิตเครื่องเรือนในประเทศ

ยา ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ปี 2559เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาเกือบทุกชนิดลดลง ยกเว้นในส่วนของยาผง สำหรับปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้ไม่ขยายตัวมากนัก เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในประเทศและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับยาบางประการของภาครัฐ

ปริมาณการผลิตยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มหดตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเกี่ยวกับยาบางประการที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยและความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศจากการที่มีการส่งคืน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปทบทวนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรคในประเทศคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงที่โรงพยาบาลของรัฐเร่งสั่งซื้อยาเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณ

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ชะลอตัวลงตามการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศ ยังขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่า จะยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไป ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักจะชะลอตัว รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป แต่อุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก และการผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง ร้อยละ 43.60 และ 7.48 ตามลำดับ เนื่องจากในไตรมาส 2 มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้กำลังการผลิตลดลง อีกทั้งยังสะท้อนความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดสำคัญของไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับตลาด อีกทั้งพัฒนาการของตลาดเครื่องหนังและรองเท้าที่มีแนวโน้มไปสู่การตลาดที่ต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความชัดเจนถึงความต้องการใช้งานตามหน้าที่เฉพาะของสินค้านั้น เช่น รองเท้าใส่ทำงาน รองเท้าสำหรับเล่นกีฬาแต่ละประเภท เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องหนังและรองเท้ามากขึ้น แต่เป็นความต้องการที่หลากหลายขึ้น การปรับเปลี่ยนของผู้บริโภคดังกล่าวในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ซึ่งจะแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้อุปสงค์มีความผันผวนมากขึ้น ส่งผลต่อการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องวางแผนธุรกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจจากการผันผวนของอุปสงค์ที่เกิดขึ้น สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป และจีน อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง แต่หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) อีกทั้งการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อาจเป็นปัจจัยเสริมที่จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังขยายตัวได้

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2559 ภาคการผลิตและการจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.30 และ 15.30 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน และผู้ประกอบการเน้นการระบายสต๊อกแทนการผลิตสินค้าใหม่บางรายการ

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลวันแม่ และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.73 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลทรายลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง และการเข้าสู่ฤดูกาลปิดหีบอ้อยที่เร็วขึ้นกว่าปีก่อน ในส่วนสินค้าปศุสัตว์ปรับลดการผลิตเนื่องจากอุปทานส่วนเกินรวมถึงสินค้าธัญพืชและแป้งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกันส่วนมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.39เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างจีน และน้ำตาลทรายได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออก

คาดการณ์การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 3 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีปัจจัยลบจากการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย ประกอบกับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตของสินค้าเกษตรลดลง เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น รวมถึงระดับราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวลดลงตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกจากกลุ่มสินค้าหลัก เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น) ที่ประเทศคู่แข่งอย่าง บราซิล และจีน จะลดการผลิตลง ส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าประมง ซึ่งมีการคาดการณ์ผลผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน จึงส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ